วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ทวี" เผย "ประชาชาติ" จัดทัพรับศึกเลือกตั้ง "บัตร 2ใบ"

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า กฎ กติกาการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนไป กลายเป็นการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ อีกทั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งกับพรรคการเมือง ได้มีการแก้ไขและผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งมีการใช้บัตรลงคะแนนสองใบ ทางพรรคประชาชาติก็ต้องส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อลงครบทุกเขต ส่วนผู้สมัครแบบแบ่งเขตนั้น ทางพรรคก็ต้องพิจารณาเลือกส่งลงสมัครเฉพาะในเขตพื้นที่ที่พอจะมีความหวังว่าจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งการจะมีความหวังว่าจะชนะหรือไม่ ก็ต้องถามประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก


พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรีเอง ทางพรรคประชาชาติมองว่า เป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีเจ้าของชัดเจน เนื่องจากตัว ส.ส.ยังมีการย้ายพรรคไปมา อีกทั้งจังหวัดกาญจนบุรีเอง เป็นจังหวัดที่มีปัญหาหลายด้าน โดยปัญหาที่มีมายาวนาน เป็นปัญหาสำคัญและยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็คือปัญหาเรื่องของที่ดิน เนื่องจากที่ดินในจังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ เป็นที่ราชพัสดุและอยู่ในความครอบครองของทหาร ซึ่งตนมองว่า น่าจะถึงเวลาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะหากปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานยังไม่ได้รับการแก้ไข คนเมืองกาญจน์ก็อย่าหวังที่จะหลุดพ้นจากปัญหานี้ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ก็ต้องเป็นฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ทวี" สรุปปิด ร่างฯ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยืนยันไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.40 น. ที่ประชุมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มี ผู้เสนอให้พิจารณารวม 6 ฉบับ โโยหนึ่งในนั้น มีฉบับของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอ ได้เสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาแล้ว และได้เข้าสู่การสรุปเนื้อหาของผู้ที่เสนอร่างกฎหมาย ก่อนลงมติ 


ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายปิดว่า มาตรา 28 มาตรา29 ที่ขอยกเลิกนั้น ตนมองว่าเป็นบทบัญญัติที่ครอบงำความเป็นอิสระของพรรคการเมือง และใช้ไม่ได้จริง เนื่องจากปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แม้มีมาตราดังกล่าว แต่ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการเขียนกฎหมายดังกล่าวคือการใช้อำนาจนิยม ไม่ใช่การคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นมาตรการป้องกันการครอบงำ และชี้นำ ในร่างพ.ร.ป.มีหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตราการการเงิน ส.ส.พรรคประชาชาติวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เหมือนที่ ส.ว. อภิปราย





วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ทวี" หนุนรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ป. เลือกตั้ง-พรรคการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2565) มีการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ..จำนวน 4 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .. จำนวน 6 ฉบับ ในจำนวนนี้มีร่างของพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอด้วย 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวผ่านวิทยุรัฐสภาว่า ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค และมีร่างของพรรคประชาชาติด้วยซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาให้การรับรองแล้วมากกว่า 50 คนก่อนจะยื่นเสนอร่าง เนื่องจาก พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ค่อนข้างจะมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก มีคำสั่ง คสช.อยู่หลายคำสั่ง คือไปหยุดหรือยกเลิกหลายมาตรา นั่นแสดงว่ากฎหมายนี้มีปัญหา และมีกฎหมายหลายตัวไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพราะในโลกของความเป็นจริงกับโลกของจินตนาการของผู้ร่างอาจจะไม่สอดคล้องกัน ที่สำคัญพรรคการเมืองคือสถาบันการเมืองของประชาชนจะเดินเข้าหาพรรคการเมืองได้ต้องง่าย พรรคการเมืองจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับรัฐ พรรคการเมืองจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศไทย

ประการสำคัญคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีการแก้บัตรเลือกตั้งจากสองใบเป็นใบเดียว และมีเขตการเลือกตั้งเป็น 400 เขต โดยท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา และพรรคประชาชาติ เราได้เห็นอุปสรรคของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองหลายประการ เช่น ค่าบำรุงสมาชิกสูงถึง 200 บาท ต้องแก้ให้เหลือแค่ 50 บาท และการบังคับให้ต้องต่ออายุทุก 2 ปี แก้ให้เป็นสมาชิกแบบถาวรไปเลย ในกฎหมายมีมาตราที่ไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคต่อการเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และไม่ได้กำหนดมาตรการให้สมาชิกดำเนินการโดยอิสระ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 จึงเห็นว่าควรจะยกเลิกประเด็นนี้ เนื่องจากว่า ความจริงแล้วให้กำหนดมาตรการ การดำเนินการของสมาชิกอย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำ ซึ่งใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองเดิมมีการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ ที่เขียนไว้หลายมาตรา แต่มาตรการที่ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมกลับไปเป็นข้อห้าม และประการสำคัญเราต้องยกเลิกตัวแทนประจำจังหวัด เนื่องจากรัฐธรรมนูญออกแบบมาให้มีพรรคขนาดเล็กเกิดขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีพรรคลงสมัครมากถึง 81 พรรคและมีจำนวนผู้สมัครเลือกตั้งเยอะมาก ดังนั้นเราเห็นว่าการมีตัวแทนประจำจังหวัดควรจะยกเลิกให้มีตัวแทนประจำภาคก็เพียงพอ

และประการสำคัญ การทำไพรม์แมรี่โหวตหรือการคัดเลือกผู้สมัคร ก็ทำไม่ได้ ต้องออกคำสั่ง คสช. ไม่ให้นำมาตรา 47-56 ไปใช้ ซึ่งเป็นหมวดไพรมารีโหวต (Primary Vote) ทั้งหมด เราเห็นว่าถ้ากฎหมายสมบูรณ์การสั่งยกเลิกแบบนี้จะต้องไม่เกิด เราจึงนำส่วนนี้มาปรับปรุงแก้ไข 


ยกตัวอย่างถ้าจะส่งผู้สมัครเลือกตั้ง 400 เขต ต้องมีสมาชิกเขตละ 100 คน รวมต้องมีสมาชิกถึง 40,000 คน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองอย่างมาก ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้ามี 50 กว่าประเทศที่ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่มี 30 กว่าประเทศที่ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง


พรรคประชาชาติได้เสนอร่างกฎหมายนี้เป็นร่างแรก จึงยังไม่ทราบว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นร่างกฎหมายนี้ด้วย เนื่องจากว่าท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นอดีตประธานรัฐสภาท่านทราบว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 คือให้คนไม่เคยเลือกตั้งมาเขียนกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งคนที่เคยผ่านการเลือกตั้งเห็นว่ามันมีปัญหาหลายอย่าง 15 มาตราต้องหยุดใช้ เพราะมันเป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์ 


ในส่วนของร่างของฝ่ายค้านที่เสนอมาก็เป็นหลักการเดียวกันเกือบทั้งหมด ในขั้นรับหลักการก็ควรรับหลักการไว้ อาจจะนำร่างของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักแล้วนำร่างอื่นไปประกอบ ในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป 

"ประชาชาติ" ห่วงยอดผู้ป่วยโควิดพุ่ง แนะรัฐเร่งรับมือด้านสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวอนุสรา มู่ฮัมหมัด กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาชาติ และ อดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 23,557 คนในวันนี้ (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565) รวมทั้งมีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 22,240 คน ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลเกี่ยวกับการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์การระบาดของภาครัฐ ที่ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ของโรค จึงขอฝากเตือนไปยังรัฐบาล ติดตามสถานการณ์และสนับสนุนมาตรการควบคุม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในวงกว้าง จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลควรเร่งเตรียมความพร้อม โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม และศูนย์คัดกรองโควิด-19 ที่สามารถปรับเป็นพื้นที่แยกกักตัวชุมชน และให้พร้อมแปรสภาพเป็น โรงพยาบาลสนามได้หากจำเป็น พร้อมทั้งเตรียมระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแยกจากชุมชนออกสู่การรักษา

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ประชาชาติ" เปิดอบรมผู้ประกอบการ วางแผนการเงิน-การเสียภาษี

พรรคประชาชาติจัดอบรม “ภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าโครงการคนละครึ่ง” ให้ความรู้พ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าใจระบบภาษีการค้า ช่วยเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม 

พรรคประชาชาติ โดย พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมการบรรยายเจาะลึกประเด็น "ภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า โครงการคนละครึ่ง" และ "การขายสินค้าออนไลน์ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?" จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ประชาชาติ Learning Center บริเวณศูนย์รวมอาหารฮาลาล มินิพลาซ่า ซอยรามคำแหง 59 กรุงเทพฯ โดยมี อาจารย์มานพ สีเหลือง และ อาจารย์กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ เป็นวิทยากร  ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการร้านค้า ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก  

พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับผู้ร่วมฟังบรรยายว่า เรื่องภาษี ตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เขาจะบอกหน้าที่ของปวงชนชาวไทย “เสียภาษีอากรตามที่กฏหมายบัญญัติ” เงินภาษีอากรที่รัฐเก็บจากประชาชนนำไปเป็นงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินที่ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการของรัฐทุกประเภทที่นับวันยิ่งมากขึ้น ความต้องการของประชาชนต้องการให้นำภาษีอากรกลับคืนเพื่อสาธารณประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยเฉพาะมีนโยบายที่เป็นสวัสดิการกลับให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากร ในเรื่องภาษีเรื่องเข้าใจยากมาก แต่อาจารย์วิทยากรทั้งสองท่านได้เอาความรู้ที่ยากที่สุด มาย่อยทำให้เข้าใจในระดับเบื้องต้น เพื่อจะเอาไปใช้ได้ในอาชีพ 

วันนี้เราต้องยอมรับว่า พอมีโครงการคนละครึ่ง หลักการก็คือรัฐบาลต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ คือใครที่มาใช้บริการ รัฐออกครึ่งหนึ่ง และผู้มาใช้บริการออกครึ่งหนึ่ง วันหนึ่งตนไปตลาด เจอพ่อค้าแม่ค้าหลายคนบ่นว่า ทำไมเข้าโครงการแล้วต้องมาเสียภาษี แล้วก็เสียค่อนข้างเยอะ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนไปพูดในสภาเยอะมากเลยเรื่องโครงการคนละครึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับประชาชนผู้ถูกรัฐบาลเก็บภาษี จึงจัดโครงการให้ความรู้ในหัวข้อ “ภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า โครงการคนละครึ่ง” และการค้าออนไลน์ต้องเสียภาษีอย่างไร  โดยเฉพาะผู้ที่เข้าอบรมที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าบริเวณหน้ารามคำแหงซอย 59 ขึ้น  ซึ่งมีผลกระทบโดยตรง เพราะพรรคมีความคิดที่ให้จับต้องได้เป็นรูปธรรมกับประชาชนในฐานะของพรรคการเมืองเป็นของประชาชน 


พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า โครงการคนละครึ่งที่ต้องเสียภาษีมี 2 ส่วนได้แก่ “ภาษีเงินได้” ที่เก็บภาษีจากบุคคลตามมาตรา 40 ที่วิทยากรได้บรรยายคือ 40(8)เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรืออื่นๆนอกจากที่ระบุไว้(1)ถึง(7ปแล้ว ภาษีส่วนนี้ได้เก็บจาก “กำไร” เมื่อหักทุนและส่วนรถตามกฏหมายแล้ว ไม่ใช่เก็บจากมีรายได้แต่เก็บจากกำไร สำหรับโครงการคนละครึ่งส่วนนี้ไม่คอยมีปัญหาเท่าใดนักเพราะส่วนใหญ่ในยุคโควิดร้านค้าจะขาดทุนมากหว่ามีกำไร

ส่วนที่ 2 ที่เห็นว่าเป็นปัญหาคือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ VAT ที่เป็นภาษีทางอ้อมเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ส่วนนี้มีปัญหากับร้านค้ารายย่อยมากมีได้รับผลกระทบเยอะเพราะกฏหมายกำหนดภาษีที่ผู้ขายสินค้าเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้านค้ารายย่อยแทบทั้งหมดไม่ได้จดไว้ เมื่อโครงการคนละครึ่งเป็นการโอนเงินทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลว่าร้านค้ารายย่อยที่เข้าโครงการคนละครึ่งมีรายได้เกินกว่าเดือนละ 1.5 แสนบาท หรือปีละ 1.8 ล้านบาท ก็เลยทำให้ถูกเข้ามาตรวจสอบเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ซื้อที่เป็นชาวบ้านหรือในตลาดจะไม่มีใบเสร็จในการซื้อขาย จะไม่มีหลักฐานมาแสดงจึงเกิดปัญหาว่าผู้เข้าโครงการที่รัฐตรวจพบมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จึงถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นปัญหาที่มีผลกระทบไปทั่วประเทศ ผู้ซื้อในตลาดสด ซื้อจากชาวบ้าน ก็จะไม่มีใบเสร็จไม่มีรายการภาษีตัวนี้เมื่อถูกเรียกเก็บเกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับรัฐว่าเป็นโครงการสืบข้อมูลการค้าจากผู้ค้ารายย่อย และไม่มีเงินจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บ หากปล่อยไว้ผู้ค้ารายย่อยต้องหันไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าหรือผู้ค้ารายใหญ่ที่มีรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแทนไปซื้อในตลาดสด ซื้อจากชาวบ้าน จะส่งผลกระทบสร้างความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนนายทุนมากขึ้น

รัฐบาลถูกตั้งคำถาม? ว่าไม่ช่วยชาวบ้านเกษตรกรทำให้ทุกคนถ้าไปซื้อในตลาด ผู้ซื้อจะไม่มีใบเสร็จ ไม่มีหลักฐานอะไร เหมือนผลักดันให้เราไปซื้อกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ ซึ่งวันนี้ก็เหลือเจ้าเดียวหรือน้อยเจ้าของในประเทศไทย มันก็จะทำให้กลุ่มนี้รวยขึ้นอีก คือ คนในตลาด คนที่มาค้าขายอาจจะเหมือนว่าเสียโอกาส เพราะว่าถ้ามีการไล่จับไล่ปรับมากๆ แม่ค้าพ่อค้าก็ต้องไปซื้อกับในห้างที่เขามีหลักฐาน


เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางพรรคประชาชาติทำเรื่องนี้ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนที่เป็นเรื่องคะแนนเสียง แต่มีความจริงใจ ต้องการสร้างความรู้ที่เป็นอาวุธทางปัญญาให้ประชาชนและหวังว่าให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองในด้านภาษี สามารถประกอบอาชีพหาเงินเข้ามาโดยเสียภาษีที่ถูกต้องและเป็นธรรม การเสียภาษีก็คือการเป็น “คนมือบน” ไปให้ “คนมือล่าง” เป็นเรื่องที่พรรคเราเน้นอยู่ แต่พรรคต้องตรวจสอบว่ารัฐ เมื่อเราเอาภาษีไปให้รัฐบาลนำไปใช้ในทางไม่ทุจริตหรือไม่  รัฐบาลที่ดีจะต้องคืนภาษีมาเป็นเรื่องสวัสดิการของประชาชน เช่น ในเรื่องของการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ หรือในเรื่องอะไรก็ตามแต่ที่เป็นสาธาณะประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ท้ายที่สุดขอให้ทุกคนประกอบอาชีพมีความร่ำรวยเจริญยิ่งขึ้นไป



วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ทวี" ล้อมวงคุยแก้ปัญหาเกษตรกร แก้ความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายพรรคประชาชาติ

“ทวี” นำทีมร่วมงานบุญที่ขอนแก่น ล้อมวงคุยแก้ปัญหาเกษตรกรและความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายพรรคประชาชาติเชื่อมั่นว่าแก้ปัญหาได้ผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ และคณะ ประกอบด้วย นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ และ นายไชยพล เดชตระกูล กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ เดินทางมาที่ วัดป่าอินทรกำแหง ต.โนนพะยอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ผ้าป่าสามัคคี โดยมี นายนาวิน คำเวียง นางละอองดาว คำเวียง ในฐานะ ประธานสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) พรรคประชาชาติ พร้อมด้วยสมาชิกพรรคประชาชาติในพื้นที่ รวมทั้งประชาชนจำนวนมาก พันตำรวจเอกทวี ได้กล่าวทักทายและชื่นชมในความตั้งใจของประชาชนที่ร่วมทำบุญ ซึ่งทุกคนแสดงความดีใจมีความสุขที่ได้รวมงานทอดผ้าป่า








จากนั้นในช่วงบ่าย พ.ต.อ.ทวี และคณะ เดินทางไปยัง วัดป่าธรรมประชานารถ ​(วัดป่าบ้านขนวน)​ ต.กุดกว้าง​ อ.หนองเรือ​ จ.ขอนแก่น เพื่อลงพื้นที่ พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มเกษตรกรและประชาชน รวมถึงสมาชิกพรรคประชาชาติในพื้นที่ โดยมี นายชัยวัฒน์ รัตนคำมูล นายกเทศมนตรีกุดกว้าง เดินทางมาให้การต้อนรับ 





​โดย พ.ต.อ.ทวี และคณะ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับนโยบายทางด้านการเกษตรของพรรคประชาชาติ ว่า จากสถานการณ์ปุ๋ยแพง​ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน​ เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่งต่อเป็นลูกโซ่ไปยังผู้บริโภคปลายทางที่ราคาผักผลไม้และอาหารที่เกี่ยวกับภาคการเกษตรสูงขึ้นตามด้วย ประเทศไทยนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนเกือบ 100% เมื่อจีนและประเทศต่าง ๆ ชะลอการส่งออก​ ทำให้ราคาปุ๋ยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว​ เกษตรกรเดือดร้อนถ้วนหน้า จึงเตรียมการเสนอนโยบาย "ปุ๋ยแห่งชาติ" ขึ้นเป็นวาระเพื่อดูแลเกษตรกร ทำให้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนการผลิตได้​ อาจจะสามารถนำเรื่องแร่โพแทสเซียมภาคอีสานที่มีมากมายมหาศาลมาใช้ประโยชน์เพื่อลดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตเพื่อส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศอีกทางหนึ่งด้วย





นอกจากนี้ ยังได้เสนอแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจนยากไร้ที่เรียกว่ารวยกระจุกจนกระจาย เห็นว่าหลีกไม่พ้นต้องผลักดันให้นำหลักการ “สวัสดิการ” หรือรัฐสวัสดิการใช้ ที่ผ่านการพิสูจน์ในหลายประเทศว่าเป็นหนทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด โดยพรรคประชาชาติมีนโยบายส่งเสริมระบบบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเสมอหน้า ด้วย “สิทธิที่เสมอกัน” ไม่ว่ายากดีมีจน ภายใต้หลักการที่ว่าสวัสดิการเป็น “สิทธิ” อันพึงมีของประชาชน มิใช่เพียงแค่ “หน้าที่” ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถา ที่ผ่านมาพรรคประชาชาติ เสนอ ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ โดยพรรคประชาชาติ ไปตั้งแต่ปี 2563 ที่บุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนต้องมีบำนาญบำนาญหรือเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน จึงไม่เห็นชอบ ซึ่งพรรคประชาชาติไม่เห็นด้วยกับการตัดสินทำแท้งกฎหมายดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ซึ่งนโยบาย 3,000 บาทบำนาญถ้วนหน้านี้ มีพรรคการเมืองอื่นได้นำมาหาเสียงอยู่ขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีจะได้ช่วยกันพลังดันให้เกิดสวัสดิการประชาชนเกิดขึ้น








วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ทวี" อัดรัฐบาล สร้างปัญหาเหลื่อมล้ำที่ดินเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งถึงปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ว่า คดีดังกล่าว ปี 2565 ศาลฏีกายืนตามคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้วหลังจากนี้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี วันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฟ้องประชาชน และประชาชนแพ้ สรุป ที่ดิน 5,083 ไร่เป็นของการรถไฟ และมีการเขียนไว้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานให้ และเป็นที่ดินที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเข้าไปอยู่ไม่ได้ แต่แล้ววันดีคืนดี ปลายเดือนธ.ค. 64 ผู้ว่าฯการรถไฟ ไปฟ้องศาลปกครองฟ้องกรมที่ดิน จากที่ตนอ่านคำฟ้องดังกล่าว การรถไฟบอกว่าตนเองมีที่ดินไม่ถึง 500 แปลง แต่กรมที่ดินบอกว่าการรถไฟมี 850 แปลง ซึ่งตนคิดว่าถ้าผู้ว่าฯการรถไฟเป็นคนธรรมดาจะต้องอยู่ไม่ได้ เพราะนี่คือความรับผิดชอบที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่ในคำฟ้องกลับบอกว่าตนเองมีที่ดินเพียง 497 แปลง แต่กรมที่ดินมีหลักฐานว่าการรถไฟมีที่ดินถึง 850 แปลง

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายต่อว่า สาเหตุที่หยิบเรื่องดังกล่าวขึ้นมา เพื่อต้องการชี้ให้เห็นนว่าการที่รัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจเปลี่ยนจากศาลยุติธรรมไปฝ่ายฟ้องศาลปกครองแทนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องเดิมศาลยุติธรรมก็ให้ความยุติธรรมแล้ว ทั้งยังมีข้อมูลว่าการรถไฟฟ้ามีที่ดินถึง 850 แปลง แต่ถามว่าทำไมการรถไฟถึงไม่ฟ้องกับศาลยุติธรรม ขอตั้งข้อสังเกตว่าอาจเพราะในที่ดินดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่าเป็นที่ที่ตัวเองและญาติพี่น้องอยู่ อีกทั้งเป็นพื้นที่สนามฟุตบอลช้างอารีน่า และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอยู่ ฉะนั้น ผู้ว่าฯการรถไฟจึงไม่กล้าฟ้องเจ้านายของตัวเอง

“ผมคิดว่าบุญคุณกับความถูกต้อง ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาความถูกต้อง ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนร่วมคิดว่าประโยชน์ส่วนร่วมที่นายกฯพูดต้องมาก่อน ระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรมคิดว่าระบบคุณธรรมต้องมี การตัดสินใจฟ้องกรมที่ดิน เพื่อให้กรมที่ดินจ่าย แต่กรมที่ดินไม่จ่ายเพราะเป็นเงินของประชาชน และคดีนี้ถ้าฟ้องศาลยุติธรรม คนที่จ่ายค่าเสียหาย คือผู้ครอบครองที่ดิน เขาบอกว่าในบรรดาคุณสมบัติสำคัญ คือผู้นำ ถ้าผู้นำไม่สัตย์ซื่อ และมีคนชั่วที่แข็งแกร่ง แล้วผู้นำอ่อนแอ ประเทศไปไม่ได้ ปัจจุบันการรถไฟมีหนี้จำนวนมาก ถ้าได้ค่าเสียหายจากตรงนี้ ปีหนึ่งได้หมื่นกว่าล้านบาท รัชกาลที่6 พระราชทานมาเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ดังนั้น นายกฯต้องดู นายกฯประกาศว่าเป็นคนซื่อสัตย์ นายกฯต้องมารักษาการณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้วท่านอาจให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแก่ นายศักดิ์สยาม เพราะถึงอย่างไร ผมเชื่อว่าทหารก็มีความเข้มแข็ง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยระบุว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ที่ให้อำนาจรัฐละเมิด รุกล้ำ แย่งชิงพื้นที่ของประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เข้าไปอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เช่น ปัญหาที่บูโด-สุไหงปาดี รัฐบาลใช้อำนาจนิยมประกาศทับที่ประชาชน อีกทั้งนายกฯยังทวงคืนผืนป่าด้วยการให้เจ้าหน้าที่ไปจับแล้วเพิ่มพื้นที่ป่า ท่านบอกวันนี้เอาที่ดินคืนมาได้เกือบ 2 แสนไร่ แต่ทุกปีการสำรวจจำนวนพื้นที่ป่าโดยคณะวนศาสตร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงระดับโลก พบว่าพื้นที่ป่าหายทุกปี ปีละแสนไร่ แต่นายกฯบอกไปทวงคืนพื้นที่ป่า จึงเกิดคำถามว่าป่าเพิ่มได้อย่างไร ในเมื่อกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าป่าลดลง ดังนั้น การได้พื้นที่ป่าคืนเพราะท่านไปรุกสิทธิทวงคืนจากกลุ่มชาติพันธุ์ และทวงคืนความเป็นคนจากคนจน สิ่งที่นายกฯไม่ทำเลยคือการเช่าป่าที่มีเป็นจำนวนมาก พอครบกำหนดนายกฯกลับไม่เอาคืน

“ถ้าจะไปสำรวจความเหลื่อมล้ำที่เป็นเงินในกระเป๋ารัฐมนตรีคงตรวจยาก แต่ถ้าตรวจเป็นที่ดินตรวจง่ายกว่า ประเทศใดถ้าปฏิรูปที่ดินไม่ได้ อย่าหวังว่าประเทศนั้นประชาชนจะอยู่ได้ เพราะที่ดินคือยุ้งฉางของเกษตรกร เกษตรกรคือยุ้งฉางของประเทศ ท่านพูดว่าเศรษฐกิจดี คือดีสำหรับคนที่อยู่ใกล้ชิดท่าน เพราะในวิกฤตโควิด – 19 คนรวยเป็นคนจน คนจนเป็นคนยิ่งจนลง สิ่งที่ไม่น่าเชื่อเมื่อดูตลาดหลักทรัพย์ช่วงก่อนโควิด – 19 มีบัญชี 2.7 ล้านคน แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 5 ล้านคน แต่ประชาชนดิ่งเอาๆ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

"ทวี" เผย ฝ่ายค้านพร้อมลุยศึกอภิปรายฯ เปิดแผลใหม่รัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเปิดการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระหว่างวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า "การอภิปรายทั่วไปแบบซักถาม เพิ่งมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี '60 และเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะว่า ไม่อยากให้รัฐบาลมองฝ่ายค้านเป็นข้าศึกหรือศัตรู เพราะโดยปกตินโยบายสาธารณะที่รัฐบาลไปบริหาร ไม่ใช่รัฐบาลควรจะทำอะไร รัฐบาลจะต้องทำอะไร สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือรัฐบาลควรไม่ทำอะไรและรัฐบาลต้องไม่ทำอะไร สิ่งสำคัญที่สุดจุดเริ่มต้นของการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีของเราทั้งหมด จะต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์" 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า "สำหรับพรรคประชาชาติเราก็จะเอาไปเอาคำถามความเดือดร้อนและสิ่งที่ประชาชนเห็น เอามาพูดให้นายกและคณะรัฐมนตรีฟังว่า สิ่งที่ผมอยากจะพูดให้เห็นว่า ในยุคของท่าน ท่านได้ทำร้ายประชาชน ทำร้ายเศรษฐกิจสังคม แค่รายงานการเงินที่มารายงานสภา รายรับเราได้น้อยกว่ารายจ่าย ถ้าเป็นบริษัทอันนี้ต้องเข้าสู่การล้มละลายแล้ว และท่านยังได้สร้างปัญหาให้กับประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม เป็นการกระทำโดยที่ท่านจะรู้ถึงกาลหรือไม่รู้ถึงกาลก็ตาม แต่ท่านได้สร้างความทุกข์และความเวทนาให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทุกคนได้รับผลกระทบเท่ากัน แต่คนจนจะได้รับผลกระทบมากกว่า ทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่จะมาเรียนและเสนอแนะ ซึ่งบางอย่างท่านก็ต้องตอบ ถ้าท่านไม่ตอบสังคมก็คงจะตามท่าน" 

"การอภิปรายพรุ่งนี้ ประชาชนจะได้ข้อมูลใหม่ จะได้ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นประโยชน วันนี้ประชาชนตื่นรู้  พรรคประชาชาติเราได้รับข้อมูลมาอยากรัฐบาลตั้งใจฟัง คิดว่าฝ่ายค้านคงไม่เอาเรื่องที่เป็นเรื่องไร้สาระ แต่จะเอาปัญหาของประชาชน ที่ได้รับปัญหาหนักมาก" 

พ.ต.อ.ทวี ยกตัวอย่างว่า "อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งลงไปทางภาคใต้ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยได้ทำลายระบบสมองเรื่องการศึกษา คือเด็กบางโรงเรียนพอปิดเรียนมา 2 ปี โดยเฉพาะเด็กในภาคใต้ไม่มีโทรศัพท์พอไปเจอเด็กอีกคนมีโทรศัพท์ เขาก็เศร้าซึมโหยหาโทรศัพท์เพื่ออยากจะเรียนหนังสือ นายกรัฐมนตรีกับรัฐบาล ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ แต่กับงบประมาณที่จะไปในหน่วยความมั่นคงบางหน่วยแปลงเป็นงบลับ 5-6 พันล้าน  คือเขามองความมั่นคงของตัวเอง ความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าความมั่นคงของประชาชน รัฐบาลอยู่ยากถ้าทำอย่างนี้ เพราะเป็นการทำลายคุณภาพของประชาชาติ คือประชาชนที่พลเมืองของประเทศ เรื่องต่างๆเหล่านี้เราไม่ได้ถามเพื่อจะให้รัฐบาลเสียหน้า ถามว่ารัฐบาลทำอะไร ปิดเรียนมา 2 ปี งบประมาณกระทรวงการศึกษา 5 แสนล้าน และงบฝึกอบรมปีละแสนกว่าล้าน เอาไปทำอะไร คือท่านไม่ใส่ใจประชาชน ผลักภาระให้เด็กไปอยู่กับครอบครัว แล้วท่านไม่ได้ทำอะไรเลย นี้เป็นส่วนที่ยกตัวอย่างให้ฟัง"

"อีกสิ่งที่อยากจะบอก รัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ท่านเชื่อไหมว่า มีกฎหมายปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลจะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี และให้บรรลุผล 5 ปี และในวันที่ 6 เม.ย.65 ต้องบรรลุผล กฎหมายตำรวจยังไม่เสร็จเลย เรื่องที่จะขอปฏิรูปก็ไม่ทำซักอย่าง คาดว่า ยังมีกฎหมาย 50 – 100 ฉบับ อย่างนี้คือรัฐบาลไปบอกให้คนทำตามกฎหมายแล้ว เป็นกฎหมายปฏิรูปที่ใช้สองสภารัฐบาลยังไม่ทำเลย เหมือนไปไล่กดทับคนอื่นแต่ตัวเองไม่ทำ" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวด้วยว่า "ผมเชื่อว่าวันนี้รัฐบาลเวลาเหลือน้อยแล้ว น่าจะฟังฝ่ายค้านหรือ ส.ส.พูดถึงปัญหา เพราะมันเป็นการถามข้อเท็จจริงกับรัฐบาล แล้วบางอย่างถ้าเห็นว่ารัฐบาลยังหลงทิศหลงทาง เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเราก็อาจจะแนะนำบ้าง ซึ่งก็ทราบว่า จริงๆท่านก็ไม่ฟังอยู่แล้ว พอมีคำแนะนำดีๆก็ใช้วิธีการแถลงข่าวใช้วาทะกรรมแก้ตัวไปที่เห็นมาก็เป็นอย่างนี้ครับ"

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

“ทวี” นำพรรคฝ่ายค้าน รับฟังความเห็นเกษตรกร-ม็อบชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กรุงเทพฯ และโฆษกพรรคเพื่อไทย นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ และ นายไชยพล เดชตระกูล กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ เดินทางมาที่ กระทรวงการคลัง ถนนพระราม6 เพื่อลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มเกษตรกร “ม็อบชาวนา” ที่เดินทางจากหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย จำนวนหลายร้อยคน มาปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ล้นท่วมตัว พร้อมกันนี้ ได้นำผลส้มจำนวนหนึ่งมามอบให้กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้รับประทานร่วมกัน โดยมี นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับมอบ ระหว่างการสนทนา พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างทีมงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และกลุ่มเกษตรกร-ชาวนา 

ทั้งนี้ เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ปักหลักกางมุ้งและเต็นต์อยู่บริเวณริมถนนใต้ทางพิเศษศรีรัชมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. จนถึงขณะนี้ต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 17 แล้ว เพื่อเฝ้ารอให้ข้อเรียกร้องของเครือข่ายเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากค้างคามาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยทางเครือข่ายขอให้เร่งดำเนินการโอนหนี้สินของเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินของเกษตรกรที่กำลังยากลำบาก