พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นำคณะทีมงานพรรคประชาชาติ ร่วมกิจกรรมของเครือข่ายสมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน เดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 2 ในประเด็น “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” จัดเวทีสัญจร 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ว่า วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม นำโดย กลุ่มสมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน เดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” จัดเวทีสัญจร 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งวันนี้เป็นการจัดเวทีสัญจร ครั้งที่ 2 ในประเด็น “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” มี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ และคณะ ประกอบด้วย นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย นายไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ นายนัฐพล กาวินคำ แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดปทุมธานี พรรคประชาชาติ นายชัยกฤต เผ่าบุญเกิด ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสกลนคร พรรคประชาชาติ และนายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอาชีพเกษตรกรคือยุ้งฉางของแผ่นดิน ที่ดินก็คือเงินของประชาชน ถ้าเราหว่านเมล็ดพันธุ์พืชไปในที่ดิน สิ่งที่งอกงามมาก็คือผลผลิต เป็นอาหารมาเลี้ยงสังคม สังคมใดไม่มีอาชีพเกษตรกร สังคมนั้นจะอยู่ลำบาก แต่วันนี้เป็นความโชคร้ายของประชาชนที่เป็นเกษตรกร เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตพูดถึงเกษตรกรว่า รัฐจะต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ให้เกษตรกรมีการผลิต มีตลาด และขายในราคาที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด ทว่าพอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งตนคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกลียดชังเกษตรกร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า เกษตรกรให้มีการผลิต มีการแข่งขัน และสามารถแข่งขันได้ในราคาตลาด คำว่า “ตลาด” เป็นของนายทุน ตลาดยิ่งถูกยิ่งดี คือเกษตรกรผลิตมา เมื่อไปขายในราคาตลาด ก็อย่าหวังเลยว่าจะมีกำไร
พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตนเห็นว่าดีที่สุดฉบับหนึ่ง เขียนไว้ว่า คนที่เป็นเกษตรกร ต้องมีกรรมสิทธิ์และมีสิทธิในที่ดิน แต่รัฐธรรมนูญปี 60 เกษตรกรต้องยากไร้ก่อน ต้องยากจนก่อน ต้องมาแสดงตัวโดยให้ข้าราชการมาทำความสงสาร ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วราชการก็จะไปปฏิรูปที่ดินให้ จนถึงวันนี้ที่ดินก็ไปอยู่กับคนรวยหมด ดังนั้นเราต้องกล้าเอาที่ดินเป็นรัฐสวัสดิการ
“ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องกล้าเอาสิทธิชุมชนขึ้นมา ต้องเลิกรัฐรวมศูนย์ แล้วต้องกระจายอำนาจเรื่องที่ดิน ป่าไม้ ทุกกฎหมายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นให้ได้ เรื่องที่ดินวันนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก วิธีแก้ไขท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ที่ดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนสิทธิการศึกษา” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ
ส่วนปัญหาเรื่องน้ำที่เกษตรกรต้องมีน้ำใช้ในการเกษตรนั้น พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า น้ำกลายเป็นเครื่องมือของการคอร์รัปชั่น แทนที่จะปล่อยให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการ กลับไปสร้างสำนักบริหารน้ำ สร้างตึกสร้างอาคารเอาเงินทอน นี่คือความเลวร้ายที่สุด ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลเท่านั้นต้องอยู่รับใช้ประชาชน ถ้าทำได้ แค่นี้จะแก้ปัญหาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีสัญจร ครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น