ผู้สื่อข่าวรายงานจากสวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลา 09.00น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ เดินทางมาร่วมงานรำลึกครบรอบ 30 ปี สืบสานวีรชน “30 ปี พฤษภาประชาธรรม” โดยภาคเช้ามีพิธีวางมาลา และพิธีรำลึก 30 ปี สดุดีวีรชนพฤษภาประชาธรรม
พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ที่วีระชนนักศึกษาและประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจ จากการเข้าร่วมการทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีการก่อตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขึ้น โดยการนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นรองหัวหน้าคณะ และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 วาทะกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จนนักศึกษาและประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ที่ได้รับการขนานนามว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
พันตำรวจเอกทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีประเทศไทย มีข้อสังเกตว่า “เดือนพฤษภาคม หรือเดือนมิถุนายน” มักจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยที่เป็นเหตุการณ์การแปลนแปลงโครงสร้างที่สำคัญ อาทิ
-24 มิถุนายน 2475 – วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นวันสำคัญสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
-15 มิถุนายน 2505 – ศาลโลกตัดสินให้ ‘ตัวปราสาทพระวิหาร’ เป็นของกัมพูชา ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิ์เหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร ฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2502 และวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกตัดสินด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่าไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลาส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณ และปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา เป็นต้น
พันตำรวจเอกทวี กล่าวอีกว่า “ขอรำลึกในเกียรติคุณและอุดมการณ์อันสูงส่งของวีระชนพฤษภาคม 2535 ที่พลีชีพจากการเรียกร้องประชาธิปไตยและไม่ต้องการให้สืบทอดอำนาจเผด็จการ ที่กลายเป็นอดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืมเลือนได้ เป็นบทเรียนให้สังคมไทยต้องไม่ให้เกิดการนองเลือดอีก และสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความเห็นต่าง และต้องเปิดความจริงทุกด้านให้เป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่าย อดีตหรือประวัติศาสตร์ถือเป็นสมบัติของทุกคนบนโลก ‘คนฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต แต่จะฉลาดกว่าถ้าเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น’ เพื่อเป็นบทเรียนประยุกต์ใช้ให้เกิดสันติภาพและประโยชน์สุขแก่ปวงชน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น