วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"ประชาชาติ" แนะรัฐบาล แก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมได้มีโอกาสเดินทางกลับมาที่บ้านเกิด ที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เดินตลาดชุมชนในพื้นที่ตำบลรำมะสัก หรือชาวบ้านในพื้นที่จะเรียกว่าตลาดนัด “ลานตาแก้ว” ซึ่งวันนี้ได้พบกับเจ้นกเล็ก (เจ้าของตลาด) มีโอกาสได้ร่วมรับฟังปัญหา และสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นไปพร้อมๆกับพ่อแม่พี่น้อง รวมทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งมีความกังวลจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหมวดค่าอาหาร เนื้อสัตว์ ผักสด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารปรุงสำเร็จ และอาหารนอกบ้าน ค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าไฟฟ้า และค่าเดินทาง เช่น ค่าน้ำมันและค่าขนส่งสาธารณะ ทราบว่าหลายคนปรับแผนการเงิน ลดใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ลดสังสรรค์ หันใช้สินค้าราคาถูก ประคองค่าครองชีพที่สูง เพราะของแพงขึ้นทั้งแผ่นดินครับ


อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นความโชคดีที่ผมได้พบกับคุณหมอทัศนีย์ แสงอำนาจเจริญ (หมอแมว) นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโพธิ์เอน ซึ่งเป็นคุณหมอที่เคยฉีดวัคซีน (สมัยก่อนเรียกปลูกฝี)  ให้แก่ผมในสมัยเรียนโรงเรียนประถมศึกษาวัดม่วงคัน และได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพและสารทุกข์สุกดิบของท่านตามสมควร

ผมมองว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้สะดุดลงตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือนครับ ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ราคาไข่ไก่ ราคาน้ำมันพืช ราคาพลังงาน ตลอดจนราคาค่าสาธารณูปโภค อย่าง ค่าไฟฟ้า

ทางออกเบื้องต้น คือ 1) ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในหลายประเภทมากขึ้น เช่น ราคาอาหารสด ของใช้ในชีวิตประจำวัน และราคาพลังงาน 2) ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 3) ต้องขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา  

ภาครัฐควรส่งเสริมให้เอกชนร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply Shortage) ให้ตรงจุด ตลอดจนควรเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มปริมาณสุกรในตลาดผ่านการสนับสนุนเงินทุนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้มาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ต่างๆ อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลต้องปรับแนวคิดว่า ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต้องรับใช้ประชาชนครับ










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น