พรรคประชาชาติจัดประชุม ประเด็น “ที่ดินทำกิน” ติวเข้ม ส.ส.หวังแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หลังเจอลิดรอนสิทธิ์จาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับ คสช. “ทวี” ยกตัวอย่างอุทยานบูโด-สุไหงปาดี กระทบคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ลุยเสนอร่างแก้ไข ยื่นได้ทันทีหลังเปิดสมัยประชุม 22 พ.ค.
วันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค.65 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชี่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ “เวิร์คชอป” ประเด็นปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งแกนนำพรรค และ ส.ส.พรรคในพื้นที่ เช่น นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 โดยสาระสำคัญของการประชุมคือเตรียมผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เนื่องจากกระทบสิทธิ์ของพี่น้องประชาชน และทำให้ประชาชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินที่ถูกประกาศเขตอุทยานฯ กลายเป็น “ผู้อาศัย” ทั้งที่อาจอยู่มาก่อนประกาศ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคประชาชาติจัดเวทีและให้ความช่วยหลือประชาชนในพื้นที่ไปแล้วหลายครั้ง แต่พบปัญหานี้ยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบากอยู่ อยากจะให้มีการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม หรือแก้ไขให้ประชาชนเห็นผลจริงๆ
ดังนั้นเมื่อจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 22 พ.ค. และจะประชุมสภาผู้แทนราษฎรกันวันที่ 24-25-26 พ.ค.นั้น วันที่ 25 พ.ค.จะมีรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เข้าสู่วาระให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่พรรคประชาชาติจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
“การตั้งกรรมาธิการในลักษณะนี้ ไม่ว่ารัฐบาลยุคใดสมัยใดก็ตั้ง พอตั้งแล้วก็ศึกษา และจัดทำรายงานเก็บไว้ที่สภา อย่างสมัยท่านอารีเพ็ญ ก็มีรายงานของท่านอารีเพ็ญเก็บไว้ที่สภา แล้วก็มีรายงานเก่าๆ เยอะเลย แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แต่ครั้งนี้เราจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในรายงานที่จะเสนอสภา มีประเด็นเกี่ยวกับชุมชนที่ถูกประกาศแนวเขตป่าไม้ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ยกตัวอย่างการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมทั้งสามจังหวัด 7 อำเภอ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก เพราะถูกประกาศเขตอุทยานทับที่ดินที่เคยอยู่และทำกินมาก่อน
“เรื่องของปัญหาที่ดินได้ถูกบันทึกไว้ในสภา ที่สำคัญคือปัญหานี้จะไม่บอกว่าเกิดจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ หรือ พ.ร.บ.สงวนรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ หรือ พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่กลุ่มนี้เรียกว่ากลุ่มป่าอนุรักษ์ หรือป่าที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งกฎหมายอุทยานฉบับใหม่เพิ่งออกเมื่อเดือน พ.ค.62 คือเลือกตั้งเสร็จยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล รีบออกเลย เพราะถ้าออกในสมัยที่มีรัฐบาลเลือกตั้ง กฎหมายลักษณะนี้คงไม่มีใครยอมให้ออก”
“กฎหมายนี้พอออกมา ได้ยกเว้นมาตราสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่กฎหมายนี้ยกเว้น เช่น ยกเว้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่บอกบุคคลมีเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ถ้าจะจับคน จะต้องมีหมายของศาล แต่กฎหมายนี้ไม่ต้องเลย ถ้าอยู่ในที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่มาจับกุมได้เลยไม่ต้องไปขอหมายศาล ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 33 บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในเคหะสถาน แต่กฎหมายอุทยานฯ ทั้งจับทั้งค้นไม่ต้องใช้หมาย เพราะมีการยกเว้นรัฐธรรมนูญ” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี บอกด้วยว่า ผลของกฎหมายฉบับนี้ ถ้าประกาศเขตอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ป่า ไม่มาทับที่ของประชาชน ก็ถือว่าเป็นที่อนุรักษ์ แต่ถ้าประชาชนอยู่มาก่อนป่าประกาศ เพราะอยู่มานาน กฎหมายนี้ถือว่ามีปัญหา และส่งผลให้บ้านเมืองเหมือนไม่มีขื่อมีแป เจ้าหน้าที่จัดการได้เลย จับกุม คุมตัว ไม่ต้องขอหมายศาล นี่คือปัญาหของกฎหมายอุทยานฯ ซึ่งพรรคประชาชาติจะเสนอแก้ไข โดยได้เตรียมเสนอร่างแก้ไขเอาไว้แล้ว คาดว่าจะยื่นหลังเปิดสมัยประชุมสภา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น