วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พรรคประชาชาติ ประกาศช่วยลูกหนี้ กยศ. หนุนเยาวชนเรียนฟรี-มีคุณภาพ

Interview: 「กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา: กยศ. 」

วันนี้ กองบรรณาธิการ Politica ได้รับเกียรติจาก คุณไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ในประเด็น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย คุณไชยพล ระบุว่า "หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 54 ต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา" 

"ในปัจจุบันกองทุนด้านการศึกษาที่ถูกจัดตั้งขึ้นมี 2 กองทุนหลัก คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้รับงบประมาณเฉลี่ย 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี โดยกว่า 99% นำไปใช้ช่วยเหลือผู้เรียนในวัยต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1 ล้านคน ที่ควรได้รับการศึกษาภาคบังคับตามโครงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว จึงนับว่าเป็นการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนที่อาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ และขาดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณด้านการศึกษาของรัฐ"

"อีกหนึ่งกองทุนด้านการศึกษา คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 โดยเริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนและมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ซึ่งในเวลาต่อมามีการตรา พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์และเงื่อนไขการกู้ยืมหลายอย่าง ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ให้ตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้อิสระในการเลือกการศึกษาตามความถนัดของประชาชนทุกวัย" 

"พ.ร.บ. กยศ. ปี 60 เพิ่มวัตถุประสงค์การให้กู้ยืมเงิน นอกจากผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์แล้ว ยังให้กู้ในสาขาที่รัฐมุ่งส่งเสริม หรือผู้ที่เรียนดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่ผู้เรียนต้องเริ่มชำระหนี้คืน เมื่อสำเร็จการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษา กอปรกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศมายาวนาน ผู้กู้จำนวนมากยังไม่มีงานทำแม้ว่าจะจบในสาขาที่รัฐมุ่งส่งเสริม หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จนเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า 2 ล้านราย หรือ 60% ของจำนวนผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ เป็นเหตุให้ กยศ. ใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับชำระหนี้จากผู้กู้และผู้ค้ำประกันที่ส่วนใหญ่คือพ่อแม่ที่หวังที่จะให้ลูก ๆ ได้รับการศึกษาที่ดี เพื่อให้มีอนาคตที่ดี แต่ด้วยเงื่อนไขตามสัญญาเงินกู้ที่มีเบี้ยปรับสูงถึง 18% ต่อปี และมีการเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ที่กยศ.ใช้อ้างเพื่อติดตามทวงหนี้ที่ผู้กู้ส่วนใหญ่มิได้จงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือเป็นผู้ขาดวินัยทางการเงิน แต่ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจเดิมที่ครอบครัวผู้กู้เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่แล้ว จึงเป็นการสร้างปัญหาทางสังคมแก่ประชาชนในวงกว้างที่หากรวมครอบครัวผู้กู้และผู้ค้ำประกันอาจสูงถึง 10 ล้านคน ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการถูก กยศ. เร่งบังคับคดี โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่บางรายถูกยึดบ้าน ทั้ง ๆ ที่มีหนี้คงค้างเพียงหลักพันหลักหมื่น หรือถูกอายัดบัญชีเงินฝากแบบเหวี่ยงแห ทั้งที่เงินในบัญชีเป็นเงินสงเคราะห์จากรัฐเพื่อการยังชีพ หรือเป็นเงินเดือนที่ไม่เกิน 20,000 บาท ที่ทางแพ่งยังไม่สามารถยึดได้ แต่ตาม พ.ร.บ. กยศ. ปี 60 กลับให้อำนาจ กยศ. มีบุริมสิทธิในทรัพย์สินทั้งสิ้น"

"ปัญหายิ่งลุกลามเมื่อประชาชนประสบวิกฤตโควิด-19 พรรคประชาชาติจึงได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. กยศ. ปี 60 ที่มีส่วนสำคัญคือการลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับให้เป็นศูนย์ และให้ปลดภาระค้ำประกันทั้งหมดที่มีอยู่เดิม มีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็น 30 ปี และยังขยายระยะเวลาการบังคับคดีอีก 10 ปี ผู้กู้ทั้งเก่าและใหม่จะมีภาระเพียงการชำระเงินต้นเมื่อพร้อม เช่น เมื่อมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายที่จำเป็น หรืออาจได้รับการยกเว้นการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้บางส่วนหรือทั้งหมดเป็นทุนการศึกษา เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ เช่น เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เรียนดี สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ เป็นต้น"

"ปัจจุบันเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีสูงถึง 468,774 ล้านบาท ที่รัฐธรรมนูญ ปี 60 กำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือให้เอกชนบริจาคทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ทางภาษี (ให้ผู้มีโอกาสช่วยผู้ขาดโอกาส) เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินการใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา มิใช่ให้กองทุนนำไปใช้จ่ายค่าทนายใช้ดำเนินคดีแก่ผู้กู้ที่มีการใช้เงินงบประมาณไปกว่า 8,788 ล้านบาท ระหว่างปี 2557-2563 จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว และไม่ควรเป็นภาระของผู้กู้รุ่นพี่ที่จะคืนหนี้เพื่อให้รุ่นน้องได้กู้เรียน ที่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มีภาระหนักในการดำรงชีพในยามยากอยู่แล้ว เมื่อประชาชนได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะมีโอกาสสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และสามารถทยอยจ่ายคืนหนี้เงินต้นได้เมื่อพร้อมภายในระยะเวลา 30 ปี นั้นต่างหากคือการลงทุนในทุนมนุษย์ที่เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องมอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทางการศึกษา ครับ"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น