วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ทวี" เผย กมธ.กยศ. ลดดอกเบี้ย ไม่มีค่าปรับ-ไม่ต้องมีผู้ค้ำ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะ กมธ.มีมติประเด็นเรื่องการคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และผู้ค้ำประกันใหม่อีกครั้ง ซึ่ง กมธ.เสียงส่วนใหญ่โหวตให้คงมติตามเดิมที่มีมติไปแล้ว คือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยไม่มีเบี้ยปรับเงินเพิ่มในกรณีการผิดนัดชำระหนี้ และให้ยกเลิกภาระผู้ค้ำประกันทั้งหมด

พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า ในการพิจารณาของคณะ กมธ.ได้พิจารณามาตรา 24 ที่เป็นบทเฉพาะกาล มีสาระสรุปว่า พ.ร.บ.นี้มาใช้บังคับแก่ผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงิน หรือค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยให้ยกเว้นเงินเพิ่มให้กับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันดังกล่าวด้วย การมีมติให้มีผลย้อนหลังอันเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ และผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ จะทำให้ผู้กู้จำนวนกว่า 2 ล้านคน ที่ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับที่สูงมาก จะได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาภาระ โดยให้เป็นการผ่อนชำระเพียงเงินต้น และดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี ไม่มีเบี้ยปรับ และผู้ค้ำประกัน ก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบด้วย


พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า ทางพรรคประชาชาติเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ที่เป็นหน้าที่ของรัฐในการต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา จึงไม่ควรมีการคิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ซึ่ง กมธ.เสียงส่วนใหญ่ได้อธิบายในกรณีผู้ที่เห็นว่าดอกเบี้ยขัดหลักการศาสนานั้น ได้กำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือการกำหนดค่าดำเนินการ โดยใช้คำว่า “ประโยชน์อื่นใด” แทน “ดอกเบี้ย” (ไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี) สำหรับผู้กู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือมีความเชื่อตามหลักศาสนาที่ไม่ให้มีการคิดดอกเบี้ย


“การพิจารณาครั้งสุดท้ายในสัปดาห์หน้า จะมีการพิจารณาขยายโอกาสให้นักเรียน หรือนักศึกษาที่เป็นคนไทย แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ให้สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนด้วยได้” พ.ต.อ.ทวีกล่าว













วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"วันนอร์" เสวนา 90 ปี รัฐสภา ชี้ ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร

(27 มิถุนายน 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายธงชาติ รัตนวิชา ฝ่ายกฎหมาย คณะยุทธศาสตร์ฯ พรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ เดินทางมาเป็นผู้แทนพรรคประชาชาติ ร่วมพิธีเปิดนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีการสถาปนารัฐสภา โดยมีสมาชิกรัฐสภา  คณะทูต เข้าร่วมงาน พร้อมชมนิทรรศการ "90 ปี รัฐสภา 90 ความทรงจำ" โดยนำวัตถุดิบพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญและเอกสาร จดหมายเหตุอันมีคุณค่า ทำเอกสารจดหมายเหตุ เพื่อนำเสนอเรื่องราวการดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปฏิบัติควบคู่ไปกับการสนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติ รวมทั้งเหตุการณ์เกี่ยวกับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 

ทั้งนี้ รัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ถือเป็นวันครบรอบ 90 ปีที่รัฐสภาที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากงานนิทรรศการแล้ว เวลา 10.30น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาร่วมงานเสวนาเรื่อง​ "90 ปี​ รัฐสภา​ไทย​ การเดินทางและความหวัง" ร่วมกับ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีร โดยมีนายชวน  หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมบรรยายพิเศษและกล่าวเปิดงานด้วย 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้เป็นประธานรัฐสภาในปี 2539 ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภามาปีนี้ก็ 43 ปีแล้ว แต่ตนคิดว่าเรายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมาย และไม่ถึงความฝัน นอกจากนี้ ยังรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การกระจายอำนาจ ให้ประชาชนทุกจังหวัดมีสภาจากการเลือกตั้ง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตัวเอง สภาต้องไม่ทำงานให้รัฐบาลกลางอย่างเดียว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจในทางบวกของการเดินทางของรัฐสภาตลอด 90 ปี ว่า คือ

1.ช่วงที่ตนเป็นประธานสภาฯ คือการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ที่มาจากประชาชนจริงๆ เพราะ มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มีองค์อิสระ และมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีการกำหนดขอบเขตอำนาจอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ใช้ได้เพียง 9 ปี เพราะเกิดการปฏิวัติ เมื่อปี 2549

2.การตั้งสถาบันพระปกเกล้าที่ทำงานควบคู่กับรัฐสภา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย

3.รัฐสภาปัจจุบัน มีช่องทางในการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ทำให้ประชาชนมีโอกาสติดตามบทบาทสมาชิกได้อย่างใกล้ชิด อันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกตามลำดับ และจะส่งผลต่อรัฐบาลด้วย แต่ต้องไม่มีการซื้อเสียง งูเห่า และการแจกกล้วย

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐสภา คือ เราถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึก บวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึก และนายทุน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน และสร้างความรู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงการทำงานของรัฐสภาที่ยึดโยงประชาชน ว่า ตนคิดว่ารัฐสภาต้องยึดโยงกับประชาชน โดยส.ว.ควรมีหน้าที่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มามีส่วนในการทำกฎหมายปฏิรูป หรือกฎหมายสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลเรื่องกระทู้ถามสด ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ เพราะเป็นการถามเดี๋ยวนั้น ตอบเดี๋ยวนั้น และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟังและเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดแล้วว่า วันพุธ และวันพฤหัสบดี มีการประชุมสภาฯ รัฐบาลต้องว่าง และที่รัฐสภามีห้องมากมายรองรับการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องมาสภา เพราะคุณมาจากสภา เพราะเบอร์หนึ่งคือประธานรัฐสภา และสภาคือฝ่ายที่ให้เงินรัฐบาลไปบริหารประเทศ ส่วนนายกฯ คือเบอร์สอง

นอกจากนี้ ตนอยากถามว่าเวลาละเมิดอำนาจศาล ทำไมถึงติดคุก แต่เวลาที่มีการทำปฏิวัติละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ และมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้นจึงอยากฝากให้ศาลทบทวนแนวทางวินิจฉัยนี้เพราะจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ และไม่เช่นนั้นจะเจอการรัฐประหารอีกหลายรอบ 


วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ประชาชาติ" อัดรัฐขึ้นราคาปุ๋ย แนะเกษตรกรใช้เกษตรอินทรีย์ลดต้นทุนการผลิต

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในประเด็นที่มีหน่วยงานภาครัฐอนุมัติให้มีการปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานหลายสูตรตามที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเสนอมา ว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ปล่อยให้ประชาชนเผชิญวิกฤตปัญหาราคาพลังงานเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อทั้งต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซ้ำเติมปัญหาเกษตรกร ประเทศไทยพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูงถึง 90-95% และปัจจุบันมูลค่าต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  ทั้ง ๆ ที่ ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง คือแม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่มีแหล่งแร่โพแทสเซียมที่จังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ อีกทั้งมีการนำเข้าปุ๋ยเคมี เฉลี่ย ปริมาณ 5 ล้านตัน มูลค่า 50,000 กว่าล้านบาท วัตถุอันตราย อาทิ ยาฆ่าแมลง ฆ่าวัชพืช ยาฆ่าโรคพืช เฉลี่ยมูลค่า 30,000 กว่าล้านบาท ปริมาณเกือบ 200,000 ตัน รวมกันทั้งปุ๋ยและวัตถุอันตราย มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านบาท

ทางออกของการลดต้นทุนเกษตรกร คือ ประเทศไทยควรทบทวนเรื่องการสร้างโรงงานปุ๋ยแห่งชาติของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะคุ้มทุน รวมทั้งการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เพื่อแลกเปลี่ยน ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 กับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการนำบายโพรดักส์ที่อยู่ในรูปปุ๋ยไนโตรเจนมาช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่นจุลินทรีย์ ทดแทนการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายเป็นต้น

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคต ประเทศไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง (Connectivity Strategy) ระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ, ความมั่นคงด้านการเกษตร มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด Covid19 ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อการเติบโตไปสู่อนาคตที่มั่นคง ครัวเรือนไทยประกอบอาชีพหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการรับจ้างในภาคเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในด้านการผลิต ส่วนใหญ่ยังคงผลิตสินค้าเกษตรรายย่อย และยังขาดการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงปัญหาสำคัญอย่างราคาต้นทุนการผลิต นั่นคือ ปุ๋ย ครับ













“อับดุลอายี” มุ่งยกระดับเศรษฐกิจยะลา หนุนเยาวชนเรียนรู้ภาษาจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารรัฐสภา ว่า นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดยะลา ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งในฐานะที่จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดน การที่ประชาชนในพิ้นที่ได้เรียนรู้ และมีทักษะการสื่อสารมากกว่า 1 ภาษา จึงเป็นสิ่งจำเป็น อาทิ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษามลายู และโดยเฉพาะภาษาจีน ซึ่งการส่งเสริมทักษะทางภาษาจีนให้กับเยาวชน จะทำให้เยาวชน และประชาชนในพื้นที่สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างคนที่ต่างวัฒนธรรมได้ โดยจะให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ซึ่งการสื่อสารกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ โดยเฉพาะถ้าหากคนในสังคมไม่สามารถที่จะสื่อสารทางด้านภาษาให้คนต่างวัฒนธรรมเข้าใจได้ อาจจะเกิดผลเสียตามมามากมาย

นายอับดุลอายี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้ภาษาที่สอง (bilingualism) ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนต่างวัฒนธรรม เปิดโอกาสสู่มิตรภาพ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเปิดโลกทัศน์ต่อความคิดและวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เบื้องต้น ได้รับฟังแนวคิด การจัดตั้ง ชมรมคนรักภาษาจีนขึ้นในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป


วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ดร.ทักษิณ" เผย ประชาชาติ ใกล้ชิดประชาชนจังหวัดชายแดนใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนา  “SCENARIO PATANI” ภาพอนาคตปาตานี / ชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นโดยสื่อ THE MOTIVE   


ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจที่มีเวลาพูดน้อย เนื่องจากทางผู้จัดงานได้นัดหมายเวลาไว้ 21.00-21.45 น. แต่รายการมาช้ากว่ากำหนด ทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะพูดตามที่ตั้งใจไว้ และได้ตอบคำถาม เพราะมีภารกิจต่อเนื่อง จึงขอกล่าวให้กำลังใจคนปาตานีและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังไขว้คว้าหาอนาคต ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น ตอนที่ตนเป็นนายก อาจจะเน้นเรื่องความมั่นคงเกินไป แล้วตอนหลังมาพบว่า มันไม่ถูกต้อง หลังจากคิดว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลงแต่ตอนนั้นก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน แล้วก็มีการไปพุดคุยกับผู้นำบางท่านที่มาเลเซียเพราะอยากจะเห็นการพุดคุยกัน


"การแก้ปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งต้องเข้าใจภาวะที่แท้จริงของพี่น้องที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า 1.เขาพูดสองภาษา 2.บางคนมี 2 สัญชาติ ต้องเข้า-ออก 3.การเรียนหนังสือเขาจะเน้นศาสนา การได้เรียนด้านสามัญและวิชาชีพยังน้อยไป 4.การพัฒนาฝั่งเราช้ากว่าฝั่งมาเลเซียมาก จึงทำให้มีการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ มีการออกไปทำงานในฝั่งมาเลเซียมากมาย และธรรมชาติของเมืองชายแดนทุกที่คือเรื่องของอาชญากรรมทางด้านยาเสพติดและการค้ามนุษย์ อันนี้จะต้องมาแก้ปัญหาโดยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางทหาร"


ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า วันนี้เราใช้เงินไปหลายแสนล้านกับทางทหาร แล้วแทบจะไม่ได้ผลอะไรเลย และสูญเสียชีวิตพี่น้องทหารไปหลายคน ดังนั้นวันนี้ต้องเอางบประมาณตรงนั้นมาพัฒนา โดยที่พัฒนาด้วยกันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจะดีที่สุด จะทำอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่า พรรคประชาชาติซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงจะสามารถนำข้อเสนอเหล่านี้ ไปคุยกับรัฐบาลข้างหน้า และผมเชื่อมั่นว่า ฝ่ายประชาธิปไตย จะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งคราวหน้า และพรรคประชาชาติก็น่าจะเป็นพรรคที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


"สิ่งที่ผิดก็ต้องยอมรับว่าผิด สิ่งที่พลาดก็ยอมรับว่าพลาด แล้วสิ่งที่จะถูกต้องยังไงก็ต้องมาคุยร่วมกัน ปรึกษาร่วมกันและทำงานร่วมกัน ผมมั่นใจว่า ถ้ายอมรับความจริงกับสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบัน แล้วพยายามหาศักยภาพของการพัฒนาของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะใช้ซอฟพาวเวอร์เข้าไป ใช้เทคโนโลยีเข้าไป ใช้การพัฒนาความเจริญโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผมเชื่อว่ามันคุ้มค่ากว่า ที่จะใช้เงินสำหรับการทหารเท่านั้น ผมมองว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปี แทบจะไม่ได้ผลอะไรเลยกับงบประมาณที่เสียไป"


ดร.ทักษิณ เปิดเผยว่า จำได้ว่าเคยไปตรวจในยามนั้นเขตที่อันตรายที่สุด ผู้บังคับกองพันตอนนั้นคือ พ.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ตนเองไปแบบไม่มีใครรู้เรื่อง ไปตรวจแล้วไปขอนอนที่นั้นเลย ยังยืมผ้าปูที่นอนนายอำเภอมา และไปกินไข่ต้มของทหารที่ค่าย จึงมั่นใจว่าถ้ามีการพุดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร เหตุการณ์จะสงบแล้วจะหาแนวทางการพัฒนาร่วมกันได้ 


"ดูตัวอย่างจาก UAE 50 ปี จากทรายทั้งนั้น วันนี้ความเจริญมากมาย เพราะการที่ทุกแคว้นทั้ง 7 แคว้น มีการพูดคุยและสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงทำให้ UAE เจริญมากในวันนี้ กลายเป็นว่า เศรษฐีทั้งหมายมาอยู่ที่ UAE กันเยอะ เพราะ 1.กฎหมายเป็นกฎหมาย 2.ความสงบสุขเขาดีมากและกติกาทุกอย่างชัดเจนฉะนั้นวันนี้ผมยังมองเห็นศักยภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมมาเลเซียพัฒนาได้เราพัฒนาไม่ได้"


ดร.ทักษิณ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือต้องไปดูว่าปัญหาปัจจุบัน รับและกล้าเปลี่ยนแปลงไหม เช่นเรื่องของการเป็นเขตปกครองพิเศษ และให้คนพื้นที่ได้รับการเลือกตั้งมาให้มานั่งทำงานโดยที่ทางฝ่ายรัฐก็เป็นพี่เลี้ยง ช่วยกันไปจนมันลงตัว เมื่อลงตัวแล้วก็เป็นการปกครองตัวเองได้ แล้วเชื่อว่า ตรงนั้นเขาพูดภาษาเดียวกัน พูดวัฒนธรรมเดียวกัน ทุกอย่างจะทำให้การพัฒนามันเป็นไปด้วยดี 


"สุดท้ายนี้ผมมั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ลดเรื่องความมั่นคงลง เพิ่มเรื่องเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มระบบการศึกษาที่ดี เชื่อว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการพัฒนาและมีความสุขทุกคน ขอโทษด้วยครับ เวลาให้ผมน้อย ต้องไปก่อน สวัสดีครับ" ดร.ทักษิณ กล่าว


#ประชาชนประชาชาติ

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“ประชาชาติ” แนะรัฐส่งเสริมสวัสดิการภาคการเกษตร จากรัฐสู่ชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า เมื่อเวลา 13.30น. ที่ผ่านมา นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เดินทางมาพบเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ครั้งที่ 6” โดยมีเครือข่ายสมัชชาคนจน 72 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังปัญหา ข้อเรียกร้อง และความต้องการของเครือข่ายเกษตรกรต่อพรรคการเมือง การนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญคนจน การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง การแถลงจุดยืนพรรคการเมืองต่อการเขียนรัฐธรรมนูญ และเวทีวัฒนธรรม

นายมนตรี บุญจรัส กล่าวว่า “พรรคประชาชาติเสนอว่า ต้องแก้ที่ 5 อ.ให้ทุกคนมีครบ คือ 1.อาหาร  2.อาชีพ 3.อนามัย 4.โอกาส 5.อัตลักษณ์ ส่วน 1 อ. ที่จะต้องไม่มีในสังคมคือ ความอยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาวันนี้ เราหนีไม่พ้นแล้วที่ต้องมีรัฐสวัสดิการ”

“พวกเราต้องให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ เพราะการแก้ปัญหาของชาติในปัจจุบัน ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนได้ นอกจากจะนำรัฐสวัสดิการมาใช้ แต่ก่อนอื่นต้องมีการปรับโครงสร้างของประเทศ ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะงบประมาณไม่ได้ถูกกระจายเข้าไปในท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานและสวัสดิการ โดยเฉพาะสวัสดิการภาคการเกษตร จากรัฐสู่ชาวนา”

นายมนตรี บุญจรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ชาวนาไทยเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบบรับความเสี่ยง จากกลไกตลาดทางการเกษตรที่ผูกติดกับทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ส่งผลให้ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนกลายเป็นความเสี่ยงที่ชาวนาต้องแบกรับ และต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ปัจจุบัน ทั้งการทำงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ด้วยเหตุนี้ สวัสดิการภาคเกษตรจึงเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างเครือข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้กับชาวนา เพื่อให้เป็นหลักประประกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงแต่โดยลำพัง”

“สำหรับข้อเสนอแนะทางนโยบายนั้น การจัดสวัสดิการภาคเกษตรจำเป็นต้อง สร้างบูรณาการทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักในเชิงสถาบัน นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการภาคเกษตร ควรให้ความสำคัญกับทั้งระดับตัวบุคคลและระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกับการสร้างความเป็นธรรมในการถือครองทรัพยากรทางการเกษตรให้กับชาวนา”

“ในอนาคตควรทำการเปรียบเทียบการจัดสวัสดิการภาคการเกษตรในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว เพื่อให้มีต้นแบบสำหรับการถอดบทเรียน ให้กับการจัดสวัสดิการในประเทศไทย”

“รัฐควรมีการกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านสวัสดิการภาคการเกษตรทั้งทางด้านเทคโนโลยี เครื่องมือ และความรู้ความชำนาญให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่พยายามลดศักยภาพในการผลิตของเกษตรกรผ่านนโยบายของภาครัฐ และภาครัฐควรลดการผลักภาระและการให้ความเท่าเที่ยมกับเกษตรกรให้เกิดความมั่นคงครับ” นายมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรม นายมนตรี บุญจรัส ได้เดินชมนิทรรศการของเครือข่ายสมัชชาคนจน ที่จัดแสดงโดยรอบสถานที่จัดงานด้วย และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องปัญหาราคาสินค้า พืชผลทางการเกษตร ก่อนเดินทางกลับในเวลา 17.30น.  



วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"เผ่าภูมิ" เผย กมธ.งบฯถกเครียด งบคลัง หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ

กมธ.งบฯ ถกเครียด “งบคลัง” เจอ “หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ ค่าดอกเบี้ยพุ่ง จัดเก็บพลาด ประเมิน ศก.ผิด”

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.งบฯ ได้พิจารณาสัปดาห์แรกจบไปแล้ว เป็นในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สิ่งที่พบเจอ ล้วนแต่น่าหนักใจ

1. “หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ” : นอกจากหนี้สาธารณะ 4.4 ล้านล้านบาท ที่ถูกสร้างใหม่ขึ้นใน 8 ปี ยังเจอกับหนี้ที่ไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะจากมาตรการกึ่งการคลังอีกราว 1 ล้านล้านบาท และพุ่งแรงต่อเนื่องจากมาตรการด้านการเกษตรของรัฐบาล เป็นรายจ่ายก้อนโตทุกๆปี ที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายไปยัง ธกส. เป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญแทบไม่มีข้อมูลเลยว่ารัฐบาลใช้อะไรไปบ้าง ยอดคงค้างเท่าไหร่ ชำระเป็นอย่างไร กมธ.จากพรรคเพื่อไทยได้เรียกขอเอกสารไปทั้งหมด ต้องติดตามกันดูต่อ


2. “ค่าดอกเบี้ยพุ่ง” : การใช้หนี้สาธารณะในส่วนของ สบน. ปีนี้เป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงถึง 192,126 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าของการชำระเงินต้น ภาษีประชาชนถูกนำไปใช้หนี้แต่ไปจมอยู่ที่ค่าดอกเบี้ย ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ยจากหนี้ใต้พรมอีก นี่คือต้นทุนอันมหาศาลของการกู้เงินและการสร้างหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ ซึ่งในระยะหลังๆเป็นการกู้ที่ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ


3. “ประเมินเศรษฐกิจ ฝันหวาน” : ภาพที่เห็นที่ห้อง กมธ.งบฯ นั้นหน่วยงานที่ชี้แจงเสนอภาพที่เต็มด้วยความหวัง ในขณะที่ฝั่ง กมธ. กลับเห็นภาพที่น่าเป็นห่วง เหมือนอยู่กันคนละประเทศ ต้องเจอทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ผลจากการต่อสู้เงินเฟ้อของ FED ต้นทุนการผลิตพุ่ง รวมถึงผลกระทบหากไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย การคาดการณ์ GDP สำหรับปี 66 (ซึ่งใช้ทำงบ) ที่ 3.7% ยังคงตัวเลขเดิมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยลบใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


4. “จัดเก็บพลาด” : ปีงบฯ 65 กรมสรรพาสามิตเก็บภาษีพลาดเป้าทุกเดือนติดต่อกัน ต่ำกว่าเป้าถึง 26,501 ล้านบาท และภาษีสำหรับการระดมทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีแนวโน้มเดินหน้าต่อ ทั้งสองภาษีนี้ทำลายตลาดการระดมทุนของประเทศ ในขณะที่ภาษีที่ควรเก็บเช่น ภาษีมรดก กลับไม่คืบหน้า ย่ำอยู่กับที่ราว 200 กว่าล้าน 

5. “ธนาคารรัฐ วางบทบาทผิด” : ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งมุ่งสร้างกำไร มุ่งลด NPL เพิ่ม BIS แต่พันธกิจหลักในการเข้าทำในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เข้าเสี่ยงในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากเสี่ยง กลับไม่ได้ทำ SME bank ที่มีหน้าที่เข้าช่วย SMEs ในช่วงวิกฤตโดยตรง กลับมี NPL ที่ลดลง ที่น่าตกใจสินเชื่อปล่อยใหม่ตั้งแต่ต้นปี 65 แทบไม่มี NPL เลย อีกทั้งเงินให้กู้ยืมต่อรายกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับพันธกิจที่ต้องยอมเสี่ยงเพื่อช่วย SMEs  

6. “การคลังชนเพดาน การเงินโดนกดดัน” : ด้านการคลัง งบฉบับนี้ผ่านการเค้นทั้งการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง จากการคาดการณ์ที่ GDP ที่สูงเกินจริง ซ้ำยังตั้งขาดดุลเกือบเต็มเพดานเพื่อทำให้มีเงินมาใช้จ่าย จนเรียกได้ว่าการคลังชนเพดาน ส่วนนโยบายการเงินก็ถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศให้ในที่สูงอาจต้องฝืนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆที่ประเทศไม่มีความพร้อมเลย

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ทวี" ติง กยศ. ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งต่อความยากจนเรื้อรัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่าย โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

“กองทุน กยศ. ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา แต่กลับส่งต่อความยากจนอย่างเรื้อรัง”

แม้มาตรา 54 วรรคหก รัฐธรรมนูญ 2560 จะบัญญัติ ให้รัฐต้อง…ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา..” และในวรรคห้า บัญญัติ “...รัฐต้องดําเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ตามความถนัดของตน”

แต่จนถึงปัจจุบันผ่านใช้รัฐธรรมนูญมามากกว่า 5 ปีแล้ว ผู้ยากไร้ ในระดับอาชีวะ และชั้นปริญาตรีหรืออุดมศึกษา ยังไม่มีกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้เลย กองทุนเพื่อความเสมอภาคก็ดูแลเฉพาะผู้ที่ศึกษาในระดับไม่เกิน ม 6 ที่มีงบประมาณผู้เรียนฟรีอยู่แล้ว อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซ้ำร้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้ สนช. บัญญัติ พ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 ขึ้นแทน พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ. 2541 ที่เปลี่ยนแปลงหลักการจากการช่วยเหลือเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องพาณิชย์ที่มุ่งหาผลประโยชน์กับผู้ยากไร้ ทำผู้กู้เงิน กยศ เมื่อสำเร็จการศึกษาไม่มีงานทำและประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำไม่สามารถไช้หนี้ กยศ ได้ ต้องได้รับชะตากรรมขั้นหายนะจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่โหดร้าย ดังปรากฎจากข้อเท็จจริงที่ กยศ. ชี้แจง “จำนวนผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้” ที่ กยศ. แยกเป็น

กลุ่มดำเนินคดี จำนวน 883,916 ราย เงินต้นค้างชำระ 50,042.16 ล้านบาทเศษ ฟ้องเรียกดอกเบี้ย 12,467.03 ล้านบาทเศษ และเรียกเบี้ยปรับ 16,713.84 ล้านบาทเศษ รวมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพิ่มจากเงินต้น จำนวน 29,180.87 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็น 58.31%

กลุ่มบังคับคดี จำนวน 187,684 ราย เงินต้นค้างชำระ 16,979.40 ล้านบาทเศษ คิดดอกเบี้ย 2,910.02 ล้านบาทเศษ และคิดเบี้ยปรับ 9,923.20 ล้านบาทเศษ รวมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพิ่มจากเงินต้น จำนวน 12,833.22 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็น 75.58%

*รวมทั้ง 2 กลุ่ม (กลุ่มดำเนินคดี กับกลุ่มบังคับคดี ) จำนวน 1,071,600 คน แบ่งเป็นเงินต้นที่ กยศ. ให้กู้จำนวนประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาทเศษ ได้เรียกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพิ่มจากเงินต้น จำนวน 4.2หมื่นล้านบาทเศษ คิดเป็น 62.7% ของยอดเงินต้น (โดยที่บางรายมีเบี้ยปรับสูงกว่าเงินต้นด้วย)

“ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กยศ. หายนะ ของผู้ยากไร้ที่เป็นลูกหนี้ กยศ.”

แม้ในขณะที่สภาผู้แทนราษฏรกำลังเร่ง ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ขึ้นมา บางฝ่ายก็ยังมีมุมมองต่อลูกหนี้ที่ไม่ดี ซึ่งเมื่อได้เอาข้อเท็จจริงมาแจกแจงดูจะพบได้เลยว่า กยศ. ที่สร้างหายนะกับอนาคตให้กับเยาวชน ซึ่งจะโตเป็นกำลังสมองของประเทศชาติต่อไป 

ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายต่างๆที่ทาง กยศ. ได้ออกมาในช่วงวิกฤตโรคระบาดโคโรน่าไวรัส (โควิด) นำมาซึ่งการถูกอายัดบัญชีและยึดทรัพย์กว่าหลายหมื่นราย แม้ว่าลูกหนี้จะพยายามใช้หนี้แต่กลับกลายไปตัดชำระเพียงในส่วนเบี้ยปรับ ซึ่งในบางรายสูงเท่าเงินต้น หรือมากกว่าเงินต้น เท่าตัว ลูกหนี้จึงไม่อาจหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ หลายรายที่ท้อ และยอมโดนยึดทรัพย์ แต่ความหายนะยังไม่จบเพียงเท่านี้เมื่อ กยศ. อาศัยกฎหมายไล่บี้อายัดบัญชีลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้หลายคนที่ลำบากกันอยู่แล้วลำบากแสนสาหัส จากต้นคิดที่ดี ในการให้โอกาสทางการศึกษา กลับกลายเป็นหายนะลูกหนี้ กยศ. ทำให้ไร้อนาคตเป็นการส่งต่อความความยากจนอย่างเรื้อรัง และส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินการของ กยศ. นอกจากฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแล้วยังขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมาย กยศ. อีกด้วย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ

#ประชาชนประชาชาติ

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ทวี" เสนอเพิ่ม "กสม.-ท้องถิ่น" เป็น กก.นโยบายตำรวจ

“ทวี สอดส่อง” เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 13/1 กรรมการตำรวจมี 2 คณะ แต่เสนอเพิ่มผู้แทนเลขาฯสมช. ศาลปกครอง กรรมการสิทธิฯ ป.ป.ช. สภาทนายความ และ นายก อบจ. เข้าเป็นกรรมการ เพื่อเป็นจุดยึดโยงกับองค์กรอื่น ชุมชนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน  


ในการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายตอนหนึ่งว่า เห็นด้วยกับมาตรา 13/1 ที่ให้มีคณะกรรมการของตำรวจ 2 คณะ คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) 


เรื่องมีคณะกรรมการ 2 คณะเป็นเรื่องที่ทำถูกต้องตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายตำรวจเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี และคณะกรรมการก็เสนอขึ้นมาแล้วว่ามี 2 ก. หมายถึงมีกรรมการ 2 คณะ แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด รัฐบาลไปเล่นแร่แปรธาตุเพื่อไม่ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอ ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างใหม่ จนเป็นร่างนี้ และเสนอให้เหลือกรรมการชุดเดียว (คือ ก.ตร.) แต่ในชั้นกรรมาธิการได้แก้ไขกลับมาเป็น 2 คณะ 


การมีคณะกรรมการตำรวจ 2 คณะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะภารกิจของตำรวจเป็นภารกิจที่ต้องประสานกับกระบวนการอื่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ อัยการ ศาล และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ตำรวจมีหน้าที่เรื่องความมั่นคงภายใน 


ดังนั้นภารกิจที่เข้ามาสู่ตำรวจจะโถมทับและมีมากมาย จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง นอกเหนือจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่เป็นการบริหารจัดการภายใน เพราะในระบบย่อยที่เอ่ยถึงนั้น เป็นองค์กรที่มีองค์กรอยู่แล้ว และองค์กรก็มีวัตถุประสงค์ต่างกัน เกิดขึ้นมาตามเหตุและผลขององค์กรดังกล่าว แต่ทั้งหมดจะเดินไปหาประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคง และป้องกันการละเมิดกับประชาชน ดังนั้นเราต้องมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมาประสานงาน คือคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ 


แต่ขอเพิ่มองค์ประกอบใน (3) เนื่องจากที่มีอยู่ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจตำรวจ ก็คือ ขอให้เพิ่มเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขอให้เพิ่มเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพราะเรื่องจำนวนมากเป็นเรื่องที่ใช้อำนาจทางการปกครองแล้วประชาชนก็ไปฟ้องศาล ตำรวจก็ไปฟ้องศาลปกครอง เวลาศาลปกครองมาชี้แจงจะมีปริมาณงานที่ตำรวจฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวนมาก ดังนั้นควรจะเอาเรื่องนี้ไปอยู่ในคณะกรรมการนโยบายฯ


ขอเพิ่มเลขาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเพิ่มเลขาธิการ ป.ป.ช. ขอเพิ่มสภาทนายความ ขอเพิ่มนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งประเทศ เพราะเราไม่มีจุดที่ยึดโยงกับประชาชนเลย แล้วคณะกรรมการชุดนี้ เป็นคณะกรรมการเพื่อที่จะดูแลประชาชนทั้งประเทศ เห็นด้วยว่าคณะกรรมการชุดนี้ควรมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 


แต่เมื่อคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ให้มีกรรมการเฉพาะที่เอ่ยขึ้นมาในร่างกฎหมาย โดยลอกจากคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 260 ก็เลยล็อกมาแค่นั้น ตนจึงขอสงวนเพื่อจะขอเพิ่มบุคคลดังกล่าวขึ้นมา แต่ถ้าเพิ่มไม่ได้ก็อยากจะฝากเป็นข้อสังเกตุไว้ว่า ให้คณะกรรมการชุดนี้ฟังประสบการณ์และทัศนะ ของบุคคลที่ตนได้เสนอว่าควรเข้ามาเป็นกรรมการ โดยเฉพาะท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเราเพิ่งกำหนดไว้ในกฎหมายตำรวจ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าชนิดหนึ่ง จึงข้อสงวนสำหรับมาตรานี้ตามที่อภิปรายไป

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ดร.ประเสริฐ" แนะรัฐใช้ Softpower คว้าโอกาสให้ประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (Instiutute of Democratization Studies : iDS) เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

Softpower ไทย เราจะคว้าโอกาสอะไรได้บ้าง

การใช้ Softpower เป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ของประเทศ มีความสำคัญต่อทั้งภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติและการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเงื่อนไขของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ Softpower จะต้องกำหนดทิศทางที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน และที่สำคัญคือการปลดล็อก(unlock)ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนในสังคม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy)

คำถามคือ เราจะคว้าโอกาสอะไรได้บ้าง หรือ เรามีศักยภาพที่จะเป็นอะไรได้บ้าง

📌1. ศูนย์กลางด้านการซื้อขายคอนเทนท์สารคดีระดับนานาชาติ 🎬🎥🎞

หากเมืองคานส์เป็นศูนย์กลางการซื้อขายภาพยนต์ที่ใหญ่และคึกคักที่สุดของโลกแล้ว ทำไมเราจะมีกรุงเทพหรือเมืองอื่นๆ ในไทยเป็นศูนย์กลางแบบครบวงจรในการซื้อขายคอนเทนท์สารคดี (Documentary)ไม่ได้  เพราะผู้ผลิตสารคดีระดับโลกจำนวนมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า สถานที่ท่องเที่ยวศิลปะวัฒนธรรม ได้มาถ่ายทำในประเทศไทยหรือใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ ความสวยงามของพื้นที่ การใช้ชีวิตของผู้คนและความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งมูลค่าของตลาดซื้อขายคอนเทนท์สารคดีในปี 2020 อยู่ที่ราว 329.94 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ11,278ล้านบาท) และมีการเติบโตอย่างมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

📌2. ศูนย์กลางด้านของเล่นและของสะสมระดับภูมิภาค 🧸🎁🎎🏯

ตลาดของเล่นของสะสมเป็นอีกกลุ่มตลาดที่เติบโตอย่างมากแม้ในช่วงวิกฤติCovid19 จากการสำรวจของ Qualiketresearch ประเมินว่า มูลค่าตลาดโลกของเล่นของสะสมจะเพิ่มจากราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี2020 ไปสู่ 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี2027 ซึ่งมาจากกำลังซื้อของคนวัยGen X,Y,Z ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และจากสภาพครอบครัวที่มีลูกน้อยคน ข้อมูลนี้ถูกตอกย้ำจากการจัดงานThailand Toy Expo ในหลายๆครั้ง ที่สามารถสร้างผลทางเศรษฐกิจในรูปแบบ GDP กว่า 2,500ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลกว่า 249 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า24,100 ตำแหน่ง ซึ่งประเทศไทยมีทั้งศิลปินนักออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตของเล่นของเสริมทักษะต่างๆ ที่เป็นโอกาสสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านของเล่นและของสะสมระดับภูมิภาคได้ไม่ยาก 

📌3. World class destination ด้านท่องเที่ยว ⛳️🍜🛍🏙  

กรุงเทพและเมืองใหญ่ในไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวมากกว่า 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งสร้างรายได้ให้ประเทศเกือบ20%ของGDP(ก่อนวิกฤติโควิด19) เราจะทำอย่างไรให้สินค้าไทย วัฒนธรรมไทย และ Made in Thailand เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในระดับนานาชาติให้มากขึ้น การพัฒนาในรูปแบบของย่านท่องเที่ยว(district)ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาทานของขึ้นชื่อ ใช้บริการที่พัก และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆและมาตรฐานทางภาษีที่จะช่วยสนับสนุนเหลือผู้ประกอบการในทุกๆระดับ เพื่อรักษาตลาดนักท่องเที่ยวเดิมและเปิดตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ที่ต้องการเรียนรู้วิถีไทยให้มากขึ้น 

เราจะคว้าโอกาสนี้ได้ รัฐต้องมีช่องทางให้ผู้คนในวงการนั้นๆสามารถ Upskill & Reskill ทักษะที่จำเป็นและทักษะใหม่ๆ, ปรับปรุงระเบียบกฎหมายให้มีความทันสมัย สอดรับการพัฒนาใหม่ๆ เพื่อเอื้อต่อการค้าการลงทุน และที่สำคัญคือ จัดองค์กรหรือหน่วยงานกำหนดนโยบายด้าน Softpower ให้ชัดเจน.

"ทวี" ติงรัฐเมิน "อุดหนุนเด็กถ้วนหน้า" อัดเทงบบุคลากรซ้ำซ้อน

(7 มิถุนายน 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา สัปปายะสภาสถาน ว่า เมื่อเวลา 09.30-12.00น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ร่วมงานเสวนาวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อผลักดันเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าตามมติ กดยช. เพื่อเด็กทุกคนได้มีสวัสดิการที่เท่าเทียม และ #ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง จัดโดย คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ร่วมกับคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชนฯ คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร คุณคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย คุณสุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คุณสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน คุณสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน คุณนพพล เหลืองทองนารา รองประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ดร.สมชัย จิตสุชน จาก TDRI โดยมีผู้ร่วมรับฟังงานเสวนาวิชาการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสัญญาณการถ่ายทอดสด ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ด้วย 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า "การไม่จัดสวัสดิการให้เด็กทั่วหน้า ผมคิดว่ารัฐบาลนั้นทำผิดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเราเขียนไว้ขัดเลย เด็กก่อน 12 ปี เรียนฟรี แล้ว คสช. ไปออกคำสั่งให้เป็น 15 ปี แต่ใน วรรค 2 เด็กก่อนวัยเรียน ก็คือ เราก็นิยามถึงแรกเกิด ต้องดูแลเด็กเขาใช้คำว่าทุกคน ทุกคนก็ทั่วหน้านะครับ การที่รัฐบาลไม่จัดแล้ววันนี้มายกให้กรรมาธิการ ต้องเรียนว่าบทบาทของกรรมาธิการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เวลางบประมาณที่จะเข้ามา หน้าที่ของกรรมาธิการมีหน้าที่ตัดได้อย่างเดียว แล้วเพิ่มไม่ได้แล้วบอกจะไปให้หน่วยไหนก็ไม่ได้นะครับ ตัดได้อย่างเดี่ยว แต่สิ่งที่ตัดไม่ได้มี 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก คือ เรื่องการใช้หนี้ หนี้เงินกู้ เรื่องที่สองที่รัฐบาลต้องใช้ จะตัดไม่ได้ เรื่องที่สาม คือ ที่กฎหมายกำหนดไว้ รัฐบาลพยายามจะเลือกใช้กฎหมายที่เป็นคุณต่อฝ่ายรัฐบาล เช่น ค่าตอบแทนบุคลากร และสวัสดิการของบุคลากร

พันตำรวจเอกทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า "สิ่งที่เราจะมาเรียกร้องวันนี้ เรามาเรียกร้องผิดคน เราต้องเดินไปถึงนายกฯว่าให้ขอรับรองสิทธิของเด็กตามรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายนี้จะเขียนไว้ใจกว้างมาก แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายปัจจุบันนี้ใจแคบ โดยเฉพาะใจแคบกับเด็ก ซึ่งผมคิดว่าการที่ให้เพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะเด็ก เป็นอนาคต อย่าถือว่าเป็นการลงทุนเลย เราคิดว่าการทำให้มนุษย์มีความรู้จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ก็ควรจะใช้ แต่อย่างไรก็ตามในฐานะกรรมาธิการ ผมก็ดูตัวเลขไว้อยู่ 

"ผมคิดว่าสิ่งที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเดียวคือ การศึกษา สิ่งที่จะวัดคนประเทศไทยว่าเหนือกับประเทศอื่น ก็คือคุณภาพของคน เราต้องพัฒนาคนตั้งแต่เกิด ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ ปัญหาอยู่ที่ความคิดของคนที่เป็นรัฐบาลไม่ให้ค่าของความเป็นเด็ก ว่ามีความสำคัญครับ" พันตำรวจเอกทวี กล่าว