ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ความเหลื่อมล้ำคมนาคมไทย..
ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์....
.
ตามที่ ดร. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ พรรคก้าวไกล กับพวกได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาทเนื่องจากพบว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อว่าจะเป็นการทุจริตครั้งใหญ่ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงที่มีมูลค่ารัฐบาลต้องเสียหายจำนวน 68,612.53 ล้านบาท หากปล่อยให้มีการอนุมัติประเทศไทยต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล เนื่องจากพบว่ามีกระบวนการ “ปั้นตัวเลข” มา “ปั่นโครงการ”
และในวันนี้ใกล้จะ “ปันผลประโยชน์” สำเร็จแล้ว หากถูกส่งไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แน่นอนว่าเมื่อไปถึงครม. ซึ่งจะทำให้เงินภาษีของประชาชนถูกใช้เกินจำเป็น 68,612.53 ล้านบาท..สร้างความเสียหายทันที
.
จากข้อมูลที่ผมฯได้จากการรับฟังการชี้แจ้งทั้งอนุกรรมาธิการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ฯสภาผู้แทนราษฏร และจากการติดตามการเสนอของฝ่ายต่างๆ พบว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี ส่อไม่ชอบด้วยกฏหมาย ตาม มาตรา 6 (5) พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
.ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนรวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง และ มาตรา 11 และมาตรา 12 พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มีมูลน่าเชื่อว่ามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้า ทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือการล็อคเสปค กีดกันและเอื้อประโยชน์ อาทิ การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้แตกต่างไปจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ‘การยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย’ กล่าวคือ
.
ข้อ 1 มีการเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติ-เงื่อนไขการใช้ผลงาน โดยกำหนดผลงานโยธาต้องเป็นคู่สัญญา โดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย
ข้อ 2 มีการเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติการใช้ผลงานโยธาที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ให้สามารถเข้าเสนอราคาได้
.
ความไม่โปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ มีผลกีดกันและสมยอมราคา กล่าวคือ
.
•พบการกีดกัน BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยมีเพียง 2 รายเท่านั้น และได้ให้บริการเดินรถในประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ
.
•ประการสำคัญคือ พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 33 บัญญัติ ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้ โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน ประกอบกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมทุน พ.ศ. 2562 ข้อ 3 เอกชนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ถือเป็นเอกชนที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ..(3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และข้อ 4 ในกรณีที่เอกชนตามข้อ 3 เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 3 ด้วย ซึ่งกรณีของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ดังนั้น ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับมิให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน ดังนั้น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จึงไม่สมควรผ่านเกณฑ์คุณสมบัติให้ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญา แต่รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดันทุรังให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จากัด (มหาชน) (ITD) ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงจาก BTS ถึงความไม่ถูกต้อง จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบ ที่กล้าทำก็เพราะน่ารู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และถึงแม้เกิดการพลิกล็อก ITD ยื่นขอเงินสนับสนุนต่ำกว่า ก็ยังสามารถจัดการตี ITD ให้ตกในขั้นตอนสุดท้ายได้อยู่ดี โดยไม่ว่าจะออกหน้าใหน ผู้ได้ผลประโยชน์ก็ยังเป็นผู้รับเหมาเจ้าเดิมอยู่ดี
.
จึงเห็นได้ว่า ถ้าขั้นตอนการประเมินและผลการประเมินย่อมไม่มีความน่าเชื่อถือ เปรียบดั่งผลไม้ของต้นไม้ที่มีพิษ (fruit of the poisonous tree) นี่ยังไม่นับถึงการประเมินที่ว่องไว รนราน จนเป็นสถิติ ที่โครงการแสนล้านใช้เวลาประเมินทางเทคนิคไม่ถึง 2 สัปดาห์ รวมถึงการเจรจาในขั้นตอนสุดท้ายที่กระทำอย่างรีบเร่ง
.
• ที่สำคัญ “ส่วนต่าง 68,612.53 ล้านมีอยู่จริง” ต้องไปพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าทำไมการประมูลรอบแรก หาก BTS ชนะ รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองซึ่ง BEM ชนะ รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือสร้างสิ่งเดียวกัน คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบบการก่อสร้างก็ไม่ได้เปลี่ยน: ยาวเท่าเดิม สถานีเท่าเดิม
.
พฤติการณ์ส่อทางทุจริตโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยให้กลุ่มผู้เสนอราคาเป็นผู้มีสิทธิในการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ที่รัฐสูญเสียไปกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท หรือรัฐจะต้องนำงบประมาณส่วนอื่นมาชดเชย ซึ่งก็จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประเทศชาติและสาธารณชนส่วนรวมที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง และอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครอง (ตามมาตรา 63)
“คมนาคมไทย” ไม่สะท้อนการพัฒนาประเทศ..
ไม่สอดรับเศรษฐกิจฐานราก...ต้องเร่งแก้ไขลดความเหลื่อมล้ำ”
รัฐควรส่งเสริมลดต้นทุนค่าเดินทางภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง แก้! ปัญหาขนส่งแพงจากเหตุปัจจัยค่าน้ำมันที่สูงลิ่ว ...วางอนาคต..ต้องกระจายอำนาจลงท้องถิ่นเพื่อกระจายระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงท้องถิ่น ตจว.มากขึ้น
.
“รัฐบาลยุคประยุทธ์ 8 ปี แผนลงทุนคมนาคม
ไม่สะท้อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและช่วยเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง”
จากการติดตามยังพบความผิดปกติในงบประมาณของกระทรวงคมนาคม พบว่าเกิด (Overlap) ความเหลื่อมล้ำ..ซ้ำซ้อนในหลายโครงการ เช่น
#รัฐบาลทุ่มงบฯสร้าง ซ่อมถนน ปีงบประมาณละ 2 แสนล้าน...แต่ซุกหนี้ ผลักภาระ/เพิ่มหนี้ภาคประชาชนในรูปของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หนี้สาธารณะ งบคมนาคมกระจุกตัวในจังหวัดรัฐมนตรีในรัฐบาล สร้างความเหลื่อมล้ำในการเดินทาง มุ่งสร้างถนนเพื่อขนรถ แต่ขนส่งมวลชนที่ขนคนที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยขาดการพัฒนา รัฐให้ความสำคัญน้อย และขาดการเหลียวแล เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในทุกครัวเรือน
.
#รัฐบาลทุ่มงบสร้างทางหลวง ทางหลวงชนบทบางพื้นที่...แต่...ไม่ทุ่มงบให้ระบบรถเมล์และขนส่งสาธารณะ.ผลักภาระค่าน้ำมันทุกภาคส่วน (ธุรกิจ อุตสาหกรรม ประชาชน)
.
#รัฐบาล สร้างรถไฟฟ้ากระจุก...แต่...ไม่กระจายการพัฒนารถไฟให้ประชาชนในภูมิภาค 77 จังหวัดได้ใช้งานอย่างทั่วถึง
.
#รัฐบาลสร้างวลีปราบโกง...แต่...ดัชนีรับรู้การทุจริตไทยได้คะแนนเพียง 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตกต่ำไปอยู่อันดับที่ 110 ของโลก(จากทั้งหมด 180 ประเทศ) ส่อให้เห็นถึงการปล่อยโกง ฮั้วงาน คอรัปชั่น งบก่อสร้าง...อู้ฟู่
.
.
ตีแผ่! 'งบคมนาคม.. จำแนกตามรายหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบปี 2566
.
เทียบปี 2565 ปี 2566 ตามตารางแนบท้าย กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับที่ 5 รองจากกระทรวงศึกษา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงกลาโหม.... จากตารางงบประมาณ..พบว่า เกิดความเหลื่อมล้ำ..โดยกระทรวงคมนาคมได้จัดสรรงบประมาณด้านการซ่อมสร้างถนนเป็นจำนวนสูงมากในระดับ 69% ที่ 165,997 (หนึ่งแสนหกหมื่นห้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเจ็ดล้านบาท) กระจุกตัวที่งบซ่อมสร้างถนนที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทซึ่งได้กระจายงบลงเฉพาะพื้นที่ของพรรคแกนนำรัฐบาลบางพื้นที่ บางจังหวัด เพื่อมุ่งหวังคะแนนนิยมทางการเมือง..เป็นหลัก โดยปรากฏแผนลงทุนในระบบรางและรถเมล์เพียง 26,798 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.69 เท่านั้น .. ซึ่งส่งผลให้พี่น้องต่างจังหวัด ยังต้องรอคอยการพัฒนาและบริการสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถโดยสาร และรถไฟท้องถิ่น อีกยาวนานชั่วลูกหลานซึ่งนับได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สุด..ในสังคมไทย
.
ข้อมูลปัญจุบัน ขสมก. น่าจะมีหนี้สินประมาณ 80,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า ขสมก. มีหนี้จำนวนมาก และรัฐบาลไม่ได้ลงทุนให้ โดยอายุเฉลี่ยของรถเมล์ ขสมก.อยู่ที่ 17-18 ปี สภาพเก่ามากและต้องใช้งานหนัก และล่าสุดที่รัฐบาลได้อนุมัติงบจัดซื้อรถใหม่ให้ ขสมก.แต่ใช้เวลานานเกินไปซึ่งมีผลเสียตามมาเช่นกัน
ความเหลื่อมล้ำระบบคมนาคมซุกซ่อนอย่างซับซ้อนที่สังคมไทยเผชิญอยู่ แปรผันตรงกับรายได้ครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ...
คนที่มีรายได้น้อยแต่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ไปกับการเดินทางสูงถึง 17% ของรายได้ กลุ่มที่มีรายได้สูงกลับมีสัดส่วนรายจ่ายด้านนี้เพียงร้อยละ 9-15% ของรายได้ ที่เห็นชัดเจน ความเหลื่อมล้ำในมิติด้านเวลาและลักษณะการเดินทาง ของคนกรุงเทพฯบ้านอยู่ไกล ที่ใช้รถประจำทางหรือรถเมล์ ต้องใช้ความอดทนกับเวลาค่อนข้างมากจนทำให้กลับดึก คนกรุงเทพฯบ้านอยู่ใกล้ระบบราง และมีกำลังซื้อก็จะสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ ก็จะประหยัดเวลาได้มาก ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด..คือ..ทุกคนไม่สามารถใช้รถไฟฟ้าได้
ความเหลื่อมล้ำในมิติด้านความปลอดภัย
วิธีการเดินทางในแต่ละรูปแบบมีความปลอดภัยที่แตกต่างกัน เช่น
.
การเดินทางที่มีความปลอดภัยน้อยที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ เห็นได้จากสถิติเกิดอุบัติเหตุสูงสุด
.
การเดินทางที่มีความปลอดภัยปานกลาง เช่น รถตู้โดยสารที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะมีอัตราบาดเจ็บหรือเสียชีวิตสูง ซึ่งกลุ่มคนที่ใช้วิธีการเดินทางเหล่านี้ ก็เป็นกลุ่มคนที่รายได้ค่อนข้างน้อยถึงปานกลางไม่มีกำลังซื้อรถยนต์มาใช้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้นผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างสูงและมีกำลังซื้อรถยนต์ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติด้านความปลอดภัย
.
มุมสะท้อน..ด้านการบริหารงบประมาณของรัฐบาลที่ผิดเพี้ยนไป..
งบประมาณที่รัฐบาลลงไปกับบรรดาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านระบบคมนาคมขนส่งพบว่า ตัวเลขจำนวนมากทุ่มไปกับโครงการที่เอื้อให้กับคนที่มีรถยนต์ส่วนบุคคล 8 ปีของรัฐบาล คสช. และ ครม.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณของรัฐบาลลงทุนไปกับระบบคมนาคมขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ ระบบรถเมล์สารสาธารณะขาดการเหลียวแล เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณการลงทุนในส่วนนี้ คือ ผู้ที่สามารถใช้ถนนที่รัฐบาลสร้างได้ (มีเงินซื้อรถส่วนตัว) และผู้รับจ้างสร้าง/ซ่อมถนน และผู้คุมนโยบายการสร้างถนนซึ่งปัจจุบันผู้ดูแลกระทรวงคมนาคมคือพรรคภูมิใจไทย พบงบประมาณมีการกระจุกตัวในบางสูงต่อเนื่อง เช่น จังหวัดจังหวัดบุรีรัมย์จนสร้างความเหลื่มล้ำในเชิงพื้นที่
.
ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนคือ รัฐสร้างถนนในขณะที่ภาระการเดินทางบนท้องถนนประชาชนแบกรับเอง โดยรัฐอุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะน้อยมากและเป็นภาระที่ ขสมก. , บขส. หรือรถร่วมฯ ซึ่งให้บริการประชาชนได้แต่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น..ส่วนการขนส่งทางรางถือว่าล่าช้ายิ่งกว่า..เพราะระบบรางก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ถึงวันนี้แผนรถไฟรางคู่รองรับไปอยู่อันดับท้ายสุด
จากข้อมูลกลุ่มสถิติขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก พบว่า ณ ตุลาคม 2565 พบว่าในปี 2565 มีรถจดทะเบียนใหม่ทั่วประเทศ 2,550,953 คัน โดยเป็นรถนั่งส่วนบุคคลสูงถึง ร้อยละ 30.10 จำนวนรถจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 จำนวนรวม 43,222,732 คัน โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น
.
ประเภทที่ 1 กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมทั้งสิ้น 18,797,906 คัน
ประเภทที่ 2 รถยนต์ตามกฎหมายขนส่ง ซึ่งได้แก่รถบัส 132,744 คัน รถบรรทุก 1,219,962 คัน
.
โดยในจำนวนนี้มีรถบัสประจำทางเพียง 60,270 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.139 เท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการสาธารณะที่ดีและรัฐบาลขาดการดูแลพัฒนาที่เป็นระบบมาอย่างยาวนานจึงเป็นความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึกในภาคคมนาคมและเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ด้วย
ค่าใช้จ่ายครัวเรือน จากการสำรวจของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือ สนค. รายงาน "ค่าใช้จ่ายครัวเรือน"เดือนมิถุนายน 2565 โดยพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หากมองในมิติการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้พบว่า ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83 ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 7.66 ทั้งนี้ สนค. ได้รายงานสรุป "ค่าใช้จ่ายครัวเรือน" เดือนมิถุนายน2565 รวมค่าใช้จ่ายรายเดือน 18,088 บาท ซึ่งสูงกว่า "ค่าจ้างขั้นต่ำ" วันละ 300 บาท ถึง 2 เท่า โดยค่าใช้จ่ายครัวเรือน อันดับ 1 ร้อยละ 24.75 เป็นค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าบริการโทรศัพท์มือถือ อันดับ 2 ร้อยละ 21.87 เป็น ค่าเช่า ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม อันดับ 3 ร้อยละ 9.68 เป็นค่าใช้จ่ายเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ
.
นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายสูงสุดของครัวเรือนเป็นค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ที่สูงถึง 8,432 บาท หรือ ครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด
.
“ต้องกระจายอำนาจระบบคมนาคมถ่ายโอนงบประมาณและภารกิจให้ กทม.และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น”
.
“ต้องคิดใหม่...เปลี่ยนบทบาท “กระทรวงคมนาคม ”จาก”กระทรวงก่อสร้าง”เป็น…“กระทรวงแผนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมและการขนส่งสาธารณะ”