ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” คำชี้แจง รฟม ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยว่า
“การทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทมีจริง”
กรณี สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โต้ BTS ปมทุจริต สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อนั้น เห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท ที่การประมูลรอบแรกเมื่อปี 2563 หากไม่ยกเลิก และ BTS ชนะการประมูล รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่ง BEM ชนะการประมูล รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือสร้างสิ่งเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 รฟม ได้ออกแถลงการณ์คำชี้แจงนั้น ไม่ได้ตอบชี้แจงให้หายสงสัยในประเด็นของการทุจริต ที่รัฐต้องรับภาระแพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ แต่การชี้แจงของ รฟม ได้เพิ่มความสงสัยและน่าเชื่อว่าการทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท มีจริง เพราะ
1. ข้อกล่าวหา “รฟม เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล” ทำไมต้องกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย ที่เปลี่ยนคือคุณสมบัติผู้เสนอราคาโดยเพิ่มคุณสมบัติเดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้นมาจากต่างประเทศก็ได้ ส่วนคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานตรงกับรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จเท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการ กีดกันไม่ให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย และไม่เป็น international competition Bidding ตาม มติ ครม เพียงเพราะต้องการกีดกันไม่ให้ BTS ที่เข้าประมูลครั้งแรกได้ แต่ไม่สามารถเข้าประมูลตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 ได้ ซึ่งการยกเลิกการประมูลที่ 1 นั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ‘การยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย’ ปมสงสัยการทุจริต คือการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “ลดคุณสมบัติผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติผู้รับเหมาขึ้น” ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย เนื้องานก่อสร้างยังคงเดิม แต่ “การกีดกัน BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี (ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเดินรถมีเพียง 3 รายเท่านั้น) ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา ทำให้ผู้เสนอราคาได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ?
การที่ รฟม. ชี้แจงว่า “เอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีกและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเสมือน “ถามช้างตอบม้า ถามวัวตอบควาย” ตอบไม่ตรงคำถาม สิ่งที่ประชาชนและสังคมต้องการทราบว่าทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และมีใครบ้างเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ?
2. กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้กลุ่ม ITD ที่เข้าประมูล ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 33 ไม่อาจผ่านคุณสมบัติได้ (การที่กลุ่ม ITD เข้ามาจึงเข้าลักษณะเป็นเพียงจัดให้เป็นคู่เทียบ) ดังนั้น ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดันทุรังให้บริษัท ITD ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบ ที่กล้าทำก็เพราะน่ารู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และถึงแม้เกิดการพลิกล็อก ITD ยื่นขอเงินสนับสนุนต่ำกว่า ก็ยังสามารถจัดการตี ITD ให้ตกในขั้นตอนสุดท้ายได้อยู่ดี โดยไม่ว่าจะออกหน้าใหน ผู้ได้ผลประโยชน์ก็ยังเป็นผู้รับเหมาเจ้าเดิมอยู่ดี
3. ตามมาตรา 10 พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
“เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอํานาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”
พฤติการณ์และการกระทำเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ” เป็นอำนาจที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นกระบวนการ ถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนที่ใช้เป็น “มติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่มีมูลเชื่อได้ว่า “รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ถึงการล็อคเสปค กีดกันและเอื้อประโยชน์ แต่ “เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ” ยังละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง และทำให้รัฐต้องรับภาระแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ หรือชดเชยโดยการเรียกค่าโดยสารจากพี่น้องประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จึงขอชี้เบาะแสให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่เป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนต้องช่วยกันขจัดอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครอง (ตามมาตรา 63) และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น