วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2566

"ทวี" แนะสอบทุจริต จัดซื้อจัดจ้าง เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ป้ายสถานีกลางบางซื่อมูลค่า 33 ล้านบาท” กับฉายารัฐบาล “หน้ากากคนดี …แปดเปื้อน”
.
การรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานในกำกับของกระทรวงคมนาคม ปรากฎเป็นข่าวฉาวน่าฉงนและมึนงง กรณี “การว่าจ้างเอกชนเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อโดย “วิธีเฉพาะเจาะจง” เปลี่ยนชื่อป้ายสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีมูลค่า 33 ล้านบาท มองมุมไหนก็ไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม เจตนาที่จะส่อไปในการบริหารพัสดุภาครัฐที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


.
“วิธีเฉพาะเจาะจง” สะท้อนฉายารัฐบาล “หน้ากากคนดี …แปดเปื้อน”
.
พระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายออกในยุค รัฐบาลเผด็จการ คสช ที่การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทําได้ 3 วิธี ได้แก่ (1)วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป (2)วิธีคัดเลือก และ (3) “วิธีเฉพาะเจาะจง” ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กําหนดในกฎกระทรวง …
.
ในการการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน คือ เจตนารมณ์ต้องการใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือ อีบิดดิ้ง ( e-Bidding ) ส่วนวิธีการคัดเลือก และวิธีการเฉพาะเจาะจง เป็นข้อยกเว้นต้องใช้ให้น้อยที่สุด ซึ่ง ตามมาตรา 65 วรรคแรก (2) ที่บัญญัติว่า “กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง …
(ก) ใช้วิธีเชิญชวนทั่วไป หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้สนใจ
(ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป จำนวนเงินไม่สูง
(ค) คนรับจ้างมีเพียงรายเดียวในประเทศไทย และไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
(ง) มีเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตราย และเชิญชวนทั่วไป หรือ คัดเลือกอาจจะก่อให้เกิดความล่าช้า และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(จ) พัสดุเป็นพัสดุเกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และต้องซื้อเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่อง
(ฉ) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ
(ช) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง”
.
แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กลับมีการจัดซื้อจัดจ้างโดย “วิธีเฉพาะเจาะจง” มากกว่าปกติ ยกตัวอย่างผลการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พบว่าใช้วิธีซื้อวิธีเจาะจงมากถึง 97.45 % e-Bidding เพียง 2.55% เท่านั้น กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีข่าวฉาวโฉ่ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปี 2564 รวม 2,207 โครงการ มูลค่า 19,554 ล้านบาท แบ่งเป็นวิธีเฉพาะเจาะจงมากถึง 1,353 โครงการ หรือ 61.30% เปรียบเทียบกับวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือ e-Bidding ที่มีเพียง 305 โครงการ หรือ 15.86% เท่านั้น
.
เมื่อย้อนไปดูถึงการเปลี่ยนชื่อป้ายสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีมูลค่า 33 ล้านบาท จากการตั้งงบประมาณราคากลางไว้ 34 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นเรื่องความเร่งด่วน แสดงว่าต่อรองราคาได้มากถึง 1 ล้านบาท และ ร.ฟ.ท. ได้ชี้แจงต่อสื่อสาธารณะว่า “งานจ้างปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ ดำเนินการโดยฝ่ายโครงการพิเศษ และก่อสร้างซึ่งรายละเอียดของงานนั้น ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการบริเวณโดมด้านหน้าของสถานีกลางบางซื่อ ทั้งในฝั่งตะวันออก และตะวันตก โดยกำหนดป้ายชื่อตัวอักษรภาษาไทย ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ส่วนชื่อภาษาอังกฤษ ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร และ บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQ ผู้รับงาน ก็เป็นหนึ่งในผู้รับเหมางานก่อสร้างที่มีประสบการณ์ประมูลงานของ รฟท. มาอย่างต่อเนื่อง”
.
งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ มีกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ เป็นผู้รับเหมา ที่เคยมีข่าวทวงค่างานเพิ่มจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 7,200 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2565 และ รฟท.ยังจ้างทำป้ายเพิ่มอีก โดยเลือกวิธีการเฉพาะเจาะจง ที่เป็นมรดกเผด็จการ คสช.
.
ในยุครัฐบาล หน้ากากคนดี...แปดเปื้อน “วิธีการเฉพาะเจาะจงได้ถูกนำไปใช้อย่างไม่สุจริตมีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริต ที่รัฐบาลปล่อยปะละเลยให้หน่วยงานของรัฐเลือกทำการจัดซื้อจัดจ้างที่ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย และโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีลักษณะ “ไม่คุ้มค่า ราคาไม่เหมาะสม ไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และยังตรวจสอบไม่ได้ในขณะนี้”
.
อีกด้านหนึ่งถ้ารัฐบาลหรือเจ้ากระทรวงเป็นหน้ากากคนดี หรือมีความสุจริตใจไม่มีลักษณะเป็น “เถยจิต” ในการบริหารงานพัสดุภาครัฐจริง ๆ ก็ย่อมรับรู้ด้วยสามัญสำนึกทั่วไปได้ว่า การป้องกันการ “ฮั้วประมูล” การป้องกันการรวมหัวกัน-สมยอมกันในการเสนอราคาไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การประกวดราคาประมูลงานระหว่างรัฐกับพ่อค้านำเงินทอนไปแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกัน รัฐควรจะเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือ อีบิดดิ้ง ( e-Bidding ) จึงจะทำให้ประชาชนสบายใจมากกว่า อย่างไรก็ตามในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายมายาวนาน อยากจะให้ข้อคิดเพื่อเตือนสติกับ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้ประการหนึ่งว่า ตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มีบทบัญญัติที่พึงปฏิบัติว่า “หากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ พิจารณาหรือเกี่ยวข้องในการเสนอราคาครั้งนี้ รู้หรือมีพฤติการณ์แจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนี้มีการกระทำผิด ละเว้นไม่ดำเนินการให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาครั้งนี้ กฎหมายมีบทกำหนดโทษไว้สูงถึง จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น