วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2566

พรรคประชาชาติ ส่ง “ดร.ขดดะรี บินเซ็น” ร่วมเวทีดีเบต พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า เมื่อเวลา 15.00น. ที่ผ่านมา ดร.ขดดะรี บินเซ็น ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้แทนของพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหารพรรรรคประชาชาติ และรองโฆษก พรรคประชาชาติ, นายไชยพล เดชตระกูล, นางสาวธนัญญรัชช์ เศรษฐาธิรัชฎ์, นายพลรักษ์ รักษาพล คณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ, นายพิทยบรรณ ว่องปรีชา รวมทั้ง นายมุมิน เจ๊ะแว นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายฟุรกอน ตาซา กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ เดินทางมาร่วมเวทีแสดงความเห็นของพรรคการเมืองต่อข้อเสนอพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย จัดโดย ไอลอว์และเครือข่ายจับตาการเลือกตั้ง Vote62 ซึ่งมีพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่งผู้แทนเข้ามาร่วมประชันวิสัยทัศน์ด้วย อาทิ นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล. นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า, นายศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย, นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นางสาวพลอยนภัส โจววณิชย์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีการถ่ายทอดสัญญาณสด ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ท รวมทั้งผ่านทางเว็บสำนักข่าวออนไลน์ประชาไทด้วย 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไอลอว์ ในฐานะผู้จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ “พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 2566” เปิดเผยว่า “เมื่อย่างเข้าเดือนมีนาคม ประเด็นทางการเมืองที่ทุกคนจับตาคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคม แม้การเลือกตั้งในปี 2566 จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจทางการเมือง เลือกผู้แทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย และบริหารประเทศอีกครั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่คสช. ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นผู้กำหนด เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพวกพ้องของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้งทั้งหมด มีสิทธิร่วมเลือกนายกร่วมกับส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำคสช.ได้อยู่อำนาจต่อหลังการเลือกตั้งในปี 2562 และเพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไอลอว์มี 3 ข้อเสนอ ที่จะทำให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ได้แก่ 1.) การให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. 2.) การให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดมีโอกาสเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน และ 3.) การให้ส.ว.เคารพเสียงส่วนใหญ่ด้วยการยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล ในโอกาสนี้ไอลอว์จึงขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 2566 

ดร.ขดดะรี บินเซ็น ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้แทนของพรรคประชาชาติ แสดงความเห็นด้วยกับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อที่หนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. สร้างนายกฯ ที่ยึดโยงกับประชาชนที่เป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้ง และสร้างหลักประกันว่านายกฯ ในฐานะ ส.ส.คนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการตรวจสอบของสภาที่มาจากประชาชน เห็นว่าควรที่จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ส่วนข้อที่สอง พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเสียงข้างมากประสบความล้มเหลวจึงจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอันดับรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดเขาได้รับการไว้วางใจจากประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือก แม้พรรคประชาชาติไม่มีโอกาสอยู่แล้วในการเสนอชื่อนายกฯ แต่ก็เข้าใจดีในข้อกฎหมาย และข้อสาม คือ เห็นด้วยที่ ส.ว.ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก ที่แสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับกิจกรรมวันนี้ มีการจัดขึ้นตลอดทั้งวัน ประกอบด้วยกิจกรรม เดินหน้า Protect Our Vote ต้องทำมากกว่าเข้าคูหา, เปิดตัวคู่มือเลือกตั้ง 66 "เรียนรู้อดีต กาเพื่ออนาคต”, การเปิดตัวฐานข้อมูลนักการเมืองที่เป็นผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 66 โดย นายสันติชัย อาภรณ์ศรี จาก Rocket Media Lab , เสวนาถอดบทเรียนจากการรวมคะแนนและรายงานผลของ กกต. เมื่อปี 2562 โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์, งานนำเสนอเทคโนโลยีของประชาชน เว็บไซต์ Vote62 สำหรับการรายงานคะแนนกันเอง โดย นายฉัตรชัย ทุติยานนท์ จาก Opendream นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้เว็บไซต์ Vote62 ถ่ายภาพกระดานนับคะแนนและส่งข้อมูลทางหน้าเว็บไซต์ด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น