(Politica) - วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่พรรคเพื่อไทย มีการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทย 141 เสียง กับพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง รวม 212 เสียงนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ขณะที่พรรคภูมิใจไทย นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค
นพ.ชลน่าน ได้อ่านคำแถลงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ว่าพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังคงต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว
รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ แม้จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เนื่องจากปัญหาของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่นี้มีความเดือดร้อนรุนแรง การประวิงเวลาออกไปยิ่งทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรจะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น
เรามีความประสงค์จะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคม และวิกฤตรัฐธรรมนูญก่อตัวเป็นปัญหาของประเทศ และประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
เราจึงต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองให้มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก อาทิ เมื่อฝ่ายค้านเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุน นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่
พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เห็นว่าทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้ จึงกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้
1.ยึดวาระของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและประชาธิปไตย นำความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนสู่ประเทศ
.
2.จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง ส.ส.ร.
.
3.ดำเนินงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ สิ่งใดที่เป็นปัญหาจะต้องถูกตรวจสอบและเร่งแก้ไขให้ถูกต้อง
.
4.จัดตั้งรัฐบาลที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
.
5.การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้เปิดกว้างให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่าทางตันระบบการเมืองของประเทศ และฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
หลังจากนี้ เราจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เพื่อแสวงหาความร่วมมือ และกำหนดเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ จึงร้องขอการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ทุกฝ่าย ทุกคน มาร่วมกันกอบกู้วิกฤตของประเทศในครั้งนี้
.
นพ.ชลน่าน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า มีพรรค 2 ลุง และพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่ ? ว่า ในคำแถลงชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มี 2 ลุง แต่เราเองไม่ปฏิเสธเงื่อนไขว่า ถ้าจะมี สส. และ สว.ลักษณะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน
.
ด้านนายภูมิธรรมกล่าวว่า หลังจากนี้ไปเราเริ่มที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ในสัปดาห์นี้เราจะเห็นว่าเราจะดึงใครเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลเราบ้าง ในแถลงการณ์ไม่ได้จัดตั้งสมาชิกที่เป็นรายบุคคล
.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันหลักการร่วมรัฐบาลว่า ต้องไม่มีการแตะต้องกฎหมายอาญามาตรา 112 และต้องไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อย รวมทั้งไม่มีพรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล สอดคล้องกับคำตอบของ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า เงื่อนไขของพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทยรับได้ หากมีพรรคก้าวไกลจะไม่ได้รับการโหวตจากพรรคการเมืองอื่น และไม่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก
.
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีพรรคไหนมาร่วมบ้าง ? และมีเงื่อนไขอะไรอีกหรือไม่ ? นพ.ชลน่านกล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย เป็นสารตั้งต้นที่มีความเข้มแข็ง หลังจากนี้จะมีการเชิญ หรือเข้าไปหาพรรคการเมืองอื่น ๆ ภายในสัปดาห์นี้ทั้งหมด
.
เมื่อถามว่า เป็นการสลาย 188 เสียงหรือไม่ ? นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราไม่มีความตั้งใจตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เรารวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว และพยายามสร้างความมั่นคงเต็มที่ เรียกร้องทุกพรรคการเมือง ทุกกลุ่ม ทุกคนสามารถเลือกนายกฯ ได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล จากนี้ไปทั้งสัปดาห์จะเห็นภาพการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลจากนี้ไป
นายอนุทินกล่าวเสริมว่า คำตอบอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว การที่พรรคภูมิใจไทยเสนอพรรคเพื่อไทย ในการหารือครั้งแรก ว่าไม่มีนโยบายจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะไม่เกิดความมั่นคงใด ๆ ทางการเมือง และไม่มีประโยชน์กับประเทศ ต้องถือว่า 188 ไม่เคยมีอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล
.
เมื่อถามว่า เป็นรัฐบาลสมานฉันท์หรือไม่ ? นพ.ชลน่านกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้โดยเฉพาะวิกฤตรัฐธรรมนูญที่ทำให้เราไม่สามารถทำเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน หรือสิ่งที่เรามุ่งหวังได้ มันติดไปทุกด้าน การที่เราหันหน้าเข้าหากันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติบ้านเมือง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
.
นายภูมิธรรม กล่าวเสริมในคำถามเดียวกันว่า ในแถลงการณ์ชัดเจนว่าวิกฤตปัจจุบันของประเทศมี 3 ด้าน ทั้งวิกฤตรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังเผชิญ สังคมเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา
.
“การที่เราพยายามให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ เป็นการที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามาคลี่คลายปัญหาของประเทศ ถ้าครั้งนี้ทำได้สำเร็จก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
.เมื่อถามพรรคภูมิใจไทย ว่าการจับมือกับพรรคเพื่อไทย มี 2 ลุงก็ได้ ไม่มีก็ได้ใช่หรือไม่ ? นายอนุทินตอบว่า มีเพียง 3 เงื่อนไขที่แจ้งกับพรรคเพื่อไทยไป ส่วนการดำเนินการอย่างไรเป็นดุลพินิจพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
.
เมื่อถามว่าจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยไม่มีสลับดีลอะไรกันอีกแล้วใช่หรือไม่ ? นายอนุทินกล่าวว่า เราทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ บ้านเมือง การพูดอะไรที่ผูกมัดตัวเองเกินไปอาจทำให้เกิดทางตันได้ เราเอาบ้านเมืองกับประชาชนเป็นหลัก มั่นใจว่าจะหาทางออกได้
.
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยเคยออกแคมเปญไล่หนูตีงูเห่าจะชี้แจงประชาชนอย่างไร ? รวมถึงกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยเคยบริหารจะได้อยู่หรือไม่ ? นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องกระทรวงเรายังไม่ลงลึกรายละเอียดจะต่อรองกระทรวงไหนอย่างไร เราไม่ได้เริ่มต้นจากกระทรวง แต่ภายใต้วิกฤตแบบนี้ มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากันและทำงานร่วมกัน
.
ส่วนการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย ไล่หนูตีงูเห่า มันเป็นการรณรงค์เพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง มิติทางการเมืองเราไปขอเสียงประชาชน เราไม่เคยประกาศเป็นศัตรูกับใคร แต่เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียงต่างฝ่ายต่างมี เราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกับใคร แต่ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมืองกัน เมื่อประชาชนตัดสินใจมอบอำนาจให้ใคร เราก็มาทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอำนาจ ถ้าร่วมกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลของประชาชนได้ก็ร่วมกันทำ ถ้าทำไม่ได้ก็มาเป็นฝ่ายค้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น