วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2566

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมงานวันพบปะมุสลีมะห์ ส่งเสริมบทบาทสตรีเข้มแข็ง

(วันที่ 16 กันยายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจากปัตตานี บาซาร์ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันพบปะมุสลีมะห์ ครั้งที่ 16  ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพครอบครัวมุสลิมจังหวัดปัตตานี หัวข้อ ครอบครัวของฉัน สวรรค์ของฉัน กับความท้าทายในโลกยุคดิจิทัล เพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนสู่สังคมแห่งสันติ ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต บนพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรม กับความท้าทาย ในโลกยุคดิจิทัลในโอกาสนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบโล่ ให้กับ สตรีผู้นำ ตัวอย่าง ครอบครัวตัวอย่าง รวมถึง องค์กรตัวอย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นางสุวรรณา สาแม นายกสมาคมสตรี นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี  รศ.ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก 


พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว ตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีอย่างเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเกียรติ ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในการเปิดกิจกรรม วันพบปะมุสลีมะห์ครั้งที่ 16 ปี 2566 แสดงให้เห็นว่า เราจัดกิจกรรมนี้มา 16 ปี ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบมีมานานกว่านั้นต้องรับตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ปีนี้ครบ 20 ปี เพื่อจะเป็นสถานที่สร้างกำลังใจในการเป็นกำแพงจากปัญหาความไม่สงบ เราต้องยอมรับว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีครอบครัวเราถูกโจมตีครอบครัวด้วยความขัดแย้ง ความไม่สงบและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จากทุกคนที่อยู่ดียินดีมีสุขเป็นครอบครัวที่เด็กสลายและล่มสลายหรือครอบครัวเปราะบาง ทำให้ชีวิตของคนที่มีความอยู่ดีมีสุขไปสู่ชีวิตเราบ้างลูกต้องขาพ่อแม่ภรรยาต้องขาดสามีสามีต้องขาดลูก คือ สิ่งที่เป็นผลกระทบ



การที่นายก อบจ. ได้จัดกิจกรรมการพบปะมุสลีมะห์ เพื่อต้องการให้สังคมนี้ได้รับ และยอมรับถึงครอบครัวเข้มแข็ง การมีพื้นที่สร้างพลังด้วยวิธีพบปะทางศาสนามีศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ในทางกฎหมายบอกว่าบุคคลจะเสมอกันด้วยกฎหมายชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันแต่ในทางปฏิบัติทางสังคมผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง ในสัดส่วนผู้หญิง ที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มี 3 คนในประเทศไทยในพื้นที่ชายแดนใต้คือผู้ว่าจังหวัดปัตตานีในส่วนราชการมีปลัดกระทรวงหญิง 2 คนในจำนวนส.ส 500 คนมีสสผู้หญิง 97 คนคือ 20% ซึ่งในหลักสากลควรจะมี 26% เป็นสัดส่วนที่แสดงให้เห็นว่า ปัตตานีมีผู้ว่าราชการหญิงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ในการพบปะ มีครูปอเนาะ อยากทำปอเนาะสีขาวร่วมแก้ปัญหา ยาเสพติดไม่กลัวทหาร ตำรวจ กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน แต่กลัวโต๊ะครู กลัวแม่ ความเป็นแม่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทุกอย่างในหัวใจของลูกแม่จะยิ่งใหญ่ความสำเร็จของครอบครัวส่วนใหญ่เกิดมาจากแม่ สังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากมือที่มองไม่เห็น เราไม่รู้ว่าใครมาทำร้ายมาเอาชีวิตของคนที่เรารัก มาทำให้ครอบครัวแตกสลาย

ในนามพรรคประชาชาติผมเป็นหนึ่ง ที่เป็นหนี้บุญคุณ ผมเป็นรัฐมนตรียุติธรรมได้ เพราะที่พี่น้องที่นี่เลือกผมที่เสมอว่าผมต้องอยู่รับใช้พี่น้องประชาชนถ้ากระทรวงยุติธรรมให้ความยุติธรรมกับพี่น้องคนไทยไม่ได้ ผมต้องพิจารณาทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับสิทธิเสรีภาพ ซึ่งคงจะทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยต้องร่วมมือกัน และถึงเวลาที่สตรีต้องลุกขึ้น ต้องมีความเป็นธรรมในทุก ๆ เรื่อง มีความเชื่อมั่นกับนายกอบจ. และผู้ว่าราชการจังหวัด 


ขอชื่นชมและขอบคุณคณะผู้จัดงานทุกท่าน ที่เสียสละเวลาจัด กิจกรรม ให้รู้ล่วงไปสำเร็จในทุกประการครับ



วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้ากระทรวงวันแรก ใช้หลักนิติธรรม เร่งแก้ปัญหาประชาชน

"พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม เข้ากระทรวงวันแรก มอบนโยบาย ให้หลักนิติธรรม เร่งแก้ปัญหาประชาชน


วันที่ 14 กันยายน 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงยุติธรรม ศาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ศาลตายาย และพระพุทธยุติธรรมโลกนาถ เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างเป็นทางการ โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ และร่วมแสดงความยินดีในการดำรงตำแหน่งใหม่ ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม


ขณะที่ช่วงบ่าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมแถลงหลังมอบนโยบายให้หน่วยงานในกระทรวงฯ โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้มาประชุมหารือร่วมผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม พร้อมมอบนโยบายตามข้อสั่งการของรัฐบาล คือ รื้อฟื้นและฟื้นฟูหลักนิติธรรม  โดยมีแผนในห้วง 100 วัน จะนำความยุติธรรมให้ประชาชนและต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยตนจะลงกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ เพราะกระทรวงฯ มีเครื่องมือช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาชน ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม ส่วนนโยบายเร่งด่วนตามข้อสั่งการของรัฐบาล เช่น ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ลูกหนี้ SME อยากให้มีการฟื้นฟูลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ต้องแก้ปัญหาจากโครงสร้าง ไม่ใช่กู้เงินใหม่มาแก้ปัญหาหนี้เก่า ซึ่งมันจะไม่จบ ขณะที่คนไทยหนี้ครัวเรือนมี 80-90% ของ GDP ถือเป็นเรื่องท้าทาย รวมทั้งอยากให้ผลักดันแก้ปัญหาหนี้ของSME และประชาชนทั่วไปเท่าเทียมกรณีล้มละลายเหมือนบริษัทนิติบุคคล


ทั้งนี้ มอบหมายให้ทุกกรมได้ไประดมความคิด อีกทั้งยังมีแผนการดำเนินงานใน 100 วันแรก เพื่อความยุติธรรมของประชาชน เพื่อที่ในช่วง 3 เดือนแรกจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งทุกหน่วยงานก็ได้มีการเสนอแนะ และจะต้องลงไปดูอย่างจริงจัง และที่สำคัญกระทรวงยุติธรรมมีเครื่องมือที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชน เราจะทำให้ระบบความยุติธรรมอยู่เหนืออิทธิพลให้ได้ กฎหมายบริหารยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้มีการพาผู้นำองค์กรต่างๆมาพูดคุยกัน เพื่อประสานเชื่อมต่อข้อมูลกัน และดูปัญหาเรื่องอาชญากรรมที่มีผลต่อประชาชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา


อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายดีแค่ไหนแต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มาประชุมร่วมกัน ติดตามความคืบหน้าระหว่างกัน ก็ไม่สามารถติดตามคนร้ายได้ทัน ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างงานกระบวนการยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่น อย่างดีเอสไอจะเข้าไปถ่วงดุลและสนับสนุนหน่วยงานในท้องที่ จะไม่ปล่อยให้องค์กรหนึ่งองค์กรใดสร้างความหดหู่ ความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เราจะทำกฎหมายเป็นใหญ่

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นอกจากนี้ให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในกรณีผู้ด้อยโอกาสที่ไร้สัญชาติมีอยู่ปีละเกือบ 1 ล้านคน ที่ยังไม่ได้สัญชาติ จะเป็นปัญหามากสำหรับผู้ที่ต้องเรียนหนังสือ เรื่องที่ผ่านมา DSI และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ช่วยในการตรวจให้พิสูจน์ได้รับสัญชาติได้แค่หลักพันถึงหลักหมื่น คนต่อปีเท่านั้น ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ในรอบ 50 ปี เราได้มีประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นกฎหมายที่ยกระดับการแก้ปัญหายาเสพติดได้มาก ซึ่งถ้าเราแก้ไขตามกฎหมายนี้ได้ทั้งหมด ที่มีทั้งเรื่องการป้องกันและปราบปราม การฟื้นฟู และการติดตามยึดอายัดทรัพย์สิน โดยเฉพาะผู้ค้ายาเสพติดที่อยู่เบื้องหลัง เราจะดำเนินการไปในส่วนของเรื่องการเงินด้วย อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูรักษาผู้ใช้ยาเสพติด ก็ต้องทำให้ได้ที่ว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย อีกทั้งในขณะนี้จำนวนผู้เสพยาเสพติดที่อยู่ในการควบคุมของกรมคุมประพฤติมี 200,000 คน แต่ที่อยู่นอกการคุมประพฤติตามข้อมูลพบกว่า1.9ล้านคน ซึ่งจะต้องหาวิธีแก้ปัญหาไม่ให้ยาเสพติดเป็นความเดือดร้อนต่อประชาชนคนอื่นๆ

เมื่อถามว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลอย่างไรบ้าง ? พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเงิน เป็นการทุจริตคอรัปชั่นประเภทหนึ่ง ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างจะมีกรมบัญชีกลางที่ดูแลตรงนี้ และเราคงจะจับมือกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้ดำเนินการจริงจัง อาจจะต้องใช้มาตรการทางภาษีและเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ หากมีความสงสัยว่ามีการฮั้วประมูลหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ราคาที่ประมูลโครงการได้ไปมักจะมีราคาที่ใกล้เคียงกับราคากลาง และเป็นการประมูลที่ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งหลังจากนี้ปลัดกระทรวงยุติธรรมจะต้องเข้าไปดูเพื่อให้เกิดความชัดเจน เกิดผลอย่างจริงจัง เพื่อคอยสนับสนุนค้ำยันและทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ทำผิดก็ต้องได้รับผิด ซึ่งจะไม่ทำเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐมแต่จะต้องทำทั้งหมด ตนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่ได้มีการจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง หลักนิติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือของข้าราชการภายในกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด ให้ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และประชาชนจะยอมรับคนที่ทำงานความตรงไปตรงมาเอง

“สำหรับการฮั้วประมูลของกำนันนกนั้น ดีเอสไอดำเนินการอยู่แล้ว แต่ปลัดกระทรวงยุติธรรมคงเข้าไปดูแล และจะต้องทำให้สังคมเห็นถึงความตรงไปตรงมา อย่าถือเพียงแค่เป็นการเสียชีวิตของตำรวจ หรือจบที่เรื่องกำนันนก แต่ให้ขยายการตรวจสอบไปทั่วประเทศ จะต้องป้องกัน การคอรัปชั่นจากการฮั้วประมูล ซึ่งถ้าทำได้ งบประมาณของประเทศจะถูกใช้ไปกับประชาชน ซึ่งดีเอสไอจะทำเรื่องนี้ให้ครบ หากภายหลังพบว่าใครอื่นมีพฤติกรรมในลักษณะนี้ก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบเช่นเดียวกัน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566

"เศรษฐา-ทวี" ประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง

นายกรัฐมนตรีประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นรัฐบาลดิจิทัล เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” เป็น “รัฐสนับสนุน”

วันนี้ (6 กันยายน 2566) เวลา 11.45 น. ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมงานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมีประชาชนกว่า 3,000 คน เข้าร่วม โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านคอรัปชันร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกองค์กรทุกภาคส่วน



นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า การปราบปรามการทุจริตและเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของรัฐบาล และเป็น “หน้าที่” ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องสนับสนุน และปฏิบัติตาม อย่างไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นอันดับที่ 101 ของโลก ในด้านของดัชนีการรับรู้การทุจริต เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากที่จะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อภาครัฐแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาการขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย เพื่อที่จะขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป ทางรัฐบาลมีนโยบาย ทั้งด้านการใช้หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนได้ทั้งความโปร่งใส และการให้บริการภาครัฐที่เร็วยิ่งขึ้น ใช้หลักนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงมาจากระบบการเขียนกฎหมาย และการออกกฎหมายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางและอนาคตของตัวเองและของประเทศ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดกระบวนการและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” ให้เป็น “รัฐสนับสนุน” และป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินสินบนจากประชาชน




นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นอกจากกฎหมายที่เข้มแข็งแล้ว รัฐบาลของเราจะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษที่เฉียบขาดและครอบคลุม เจ้าหน้าที่รัฐในหลาย ๆ ตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และในระดับสูงจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก  และการบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใส ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้นี้จะส่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างรากฐานของสังคมที่เคารพในกฎหมายร่วมกัน และขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งนอกจากนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เราสามารถเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตัวอย่าง นโยบายที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้คือ

1) ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด

2) เปิดให้ขอใบอนุญาตและการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ขอได้โดย “ง่าย” เป็น One-stop service (พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565) 

3) ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและโปร่งใส เพื่อป้องกันการทุจริต และเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government

4) ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น Digital Government และปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับระบบการอนุมัติ การอนุญาต การควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส และลดการต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ติดต่อกับประชาชน

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าภายใต้การทำงานของรัฐบาล ปัญหาการคอร์รัปชันจะลดลง ความโปร่งใสและเป็นธรรมจะเพิ่มมากขึ้น และตามมาด้วยความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชนและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีต่อเศรษกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอจากนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จำนวน 5 ข้อ ดังนี้

1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน

มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์

2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล

3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

4. ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง

5. แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาเชิงรุก ปลุกพลังคนไทยร่วมตรวจสอบโครงการเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยเว็บไซต์ “ACT Ai” “แค่สงสัยก็เสิร์ชเลย” องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566”