วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานพิธีฌาปนกิจ "น้องหนุงหนิง" เหยื่อเหตุยิงสยามพารากอน

(19 ตุลาคม 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาร่วมพิธีฌาปนกิจ น.ส.เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หรือ น้องหนุงหนิง ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์รุนแรงในศูนย์การค้าสยามพารากอน โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้มอบเงินเยียวยาแก่ นางเพ็ญศรี มิตรธรรมพิทักษ์ อายุ 72 ปี ซึ่งเป็นมารดา น.ส.เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หรือ น้องหนุงหนิง รวมทั้ง เป็นประธานในพิธีฌาปนกิจ ร่วมกับแบมแบม วง I GOT7 โดยมี คุณแม่จุ๋ม กชกร  มารดา คุณแบมแบม เดินทางมาเป็นผู้แทน ร่วมฟังสวดพระธรรมเทศนา ก่อนจะประชุมเพลิง ณ วัดบางไผ่ พระอารามหลวง ศาลา 2 (ศาลาฤทธิ์ดี) อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี



พันตำรวจเอก  ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้มาร่วมไว้อาลัยในงานศพของน้องหนุงหนิง ที่ครั้งแรกได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน และมาร่วมงานฌาปนกิจศพในวันนี้ ทางรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมาเป็นตัวแทน ซึ่งทางรัฐบาลก็แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในส่วนที่เราจะต้องดูแลก็คือคุณแม่ เนื่องจากครอบครัวนี้มีลูกคนเดียวแม่อยู่กับลูกตลอด พอลูกเสียชีวิต และคุณแม่ก็อายุ 70 กว่าปี ก็ไม่มีใครดูแลคุณแม่ สิ่งที่ทางรัฐบาลทำก็คือเรื่องการตามกฎหมาย น้องหนุงหนิงถือว่าเป็นผู้เสียหาย เป็นเหยื่อจากการกระทำผิด ในช่วงแรกถ้าบาดเจ็บกฎหมายกำหนดเพดานว่า ถ้าผู้บาดเจ็บจะช่วยเหลือได้ 50,000 บาท และถ้าเสียชีวิตก็จะได้ 200,000 บาท ส่วนการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการกฏหมาย กระบวนการยุติธรรม ตอนนี้ผู้กระทำความผิดยังถูกอำนาจศาลยังไม่ให้ประกัน ตนก็ได้เข้าไปดูแลเรื่องการช่วยเหลืออาการบาดเจ็บ ก็ต้องจ่ายเงินในการเยียวยา สิ่งที่เป็นไปได้ก็อยากจะดูแลให้มากที่สุด ส่วนการดูแลจากรัฐบาลที่ยังมีกองทุนอีกต่างหาก ในกรณีนี้ก็จะมีกองทุน ก็จะมีห้างเอกชนที่เขาเกิดเหตุก็จะมาช่วยเหลือ แต่ว่าคุณแม่ต้องมาอยู่กับญาติ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น และเมื่อมีเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้น ก็จะมีการป้องกันและระวังในอนาคต เอาเหตุการณ์นี้ไว้เป็นบทเรียน ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้า ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว หลายๆประเทศก็จะเกิด เพราะเราไม่รู้ว่าภาวะปกติของคนที่มีภาวะทางจิตใจ แล้วมาทำกับคนที่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ถ้าดูจากวิถีชีวิตน้องหนุงหนิงก็ทำงาน เลิก 16.00 น. ออกไปกินข้าว และชีวิตเขาก็ผูกอยู่กับคุณแม่



"ผู้เสียชีวิตตอนแรกเข้าเกณฑ์ผู้บาดเจ็บ ทางกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือเยียวยา 50,000 บาท หลังจากนั้นมาเสียชีวิตก็จะได้เพิ่มอีก 200,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนตัวเด็กชายที่ก่อเหตุนั้น หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงต้องอยู่ในความดูแลของทางกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งได้ส่งเด็กชายไปตรวจสภาพจิตใจที่โรงพยาบาลสถาบันราชนครินทร์และปัจจุบัน ยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลของคนไข้ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้นทางแพทย์ที่ดูแลรักษาจะเป็นผู้วินิจฉัยต่อไปว่าเด็กชายคนดังกล่าว มีอาการป่วยทางจิตหรือต้องเข้ารับการรักษาอย่างไร ใช้เวลาแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จำเป็นต้องรอและเคารพความเห็นของแพทย์" พันตำรวจเอก  ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว














วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประชุมแม่ทัพภาคที่2-ป.ป.ส.-ดีเอสไอ บูรณาการทุกหน่วยงาน ร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ

(18 ตุลาคม 2566) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมประชุมและหารือข้อราชการระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและ พล.ท. อดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 ในการดำเนินการร่วมกันเรื่องการดำเนินการของ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม



พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หารือและแลกเปลี่ยนกรอบแนวคิด สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล โดยปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลงและหมดไป ปัญหายาเสพติดนั้นมีหลายมิติ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดปัญหานี้ออกไปจากสังคมไทย

“ตั้งเป้าปัญหาการนำเข้ายาเสพติดให้เป็นศูนย์” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว




พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวด้วยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมย้ำทุกหน่วยงานต้องร่วมมือแก้ไขปัญหา บังคับใช้กฎหมายยาเสพติดอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ 


ที่ประชุมยังได้หารือถึงการแก้ปัญหาร่วมกัน 3 ข้อ คือ 1.) นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดที่เข้มแข็ง 2.) การตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกัน และ 3.) การประสานงานที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายคือ สกัดกั้นยาเสพติดในรูปแบบมิติใหม่ ที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ท้องถิ่น และประชาชน เข้าร่วมด้วยกัน โดยภายใน 1 ปี ต้องให้เห็นผลจากการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน