ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ศูนย์พัฒนาพฤตินิสัยปัตตานี กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่า เมื่อเวลา 14.45 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยม และติดตามการพัฒนาศักยภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการ DRIP MODEL "ค่ายสานพลังใจ" โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว 60 วัน พร้อมพบปะพูดคุยให้กำลังใจแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติ โดยมี นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางธาริณี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ และคณะ ให้การต้อนรับ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า "มนุษย์ทุกคนมีคุณค่ามีความสำคัญ การจะพัฒนาคนต้องพัฒนาตามศักยภาพ ภาษากายที่ทุกคนแสดงออกมาบ่งบอกถึงความจริงใจและบ่งบอกถึงพลัง โครงการนี้เกิดขึ้นจากคนที่หวังดี ไม่หวังผลตอบแทน แต่มีความหวังเพียงอย่างเดียว คือ ขอให้พวกเราผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีชีวิตที่ดี โดยชีวิตที่ดีนั้น ประกอบด้วย 1) พวกเราออกไปต้องมีอาหารกินและต้องไม่ยากจน 2) ต้องมีอาชีพที่ดีสุจริต 3) มีสุขภาพอนามัยที่ดี โดยข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญตอนนี้เพราะพวกเราขณะนี้เหมือนได้รักษาสุขภาพจากการก้าวพลาดไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องขอให้คิดเสมอว่ายาเสพติดเป็นอันตราย พวกเราทุกคนต้องใจแข็ง และ 4) ต้องมีโอกาส โดยในวันนี้ทุกคนทั้ง 104 คน มีโอกาสจากการได้รับการศึกษาและเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ผู้จัดโครงการฯ พยายามหาโอกาสให้กับทุกคน และสิ่งหนึ่งที่เป็นโอกาสที่สำคัญ คือ โอกาสกับตัวเราและครอบครัว ครอบครัวจะได้รับสิ่งที่ครอบครัวฝันกลับคืนสู่ครอบครัว พร้อมทั้งขอให้กำลังใจ และขอขอบคุณโครงการที่ดี มีคุณค่า และได้ให้ความสำคัญแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด และขอฝากกับทุกคนว่า เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม โดยการนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเจอ มาบอกเล่า และมาให้คำแนะนำกับรุ่นน้อง ท้ายสุดนี้ ขอให้ทุกคนคิดว่า ในเวลาที่เราถูกตราหน้าว่าคุมประพฤติหรือคนราชทัณฑ์ที่เป็นดินแดนของคนต้องห้ามนั้น พวกเราต้องเปลี่ยนความคิดว่าเป็นดินแดนของการสร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติ และขอให้สันติสุขบังเกิดแก่ทุกคน"
ทั้งนี้ โครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระยะยาว เป็นการเปลี่ยนจากโทษจำคุกไปเป็นการคุมความประพฤติ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยใช้โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด ผ่านกระบวนการเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระยะ 60 วัน มีผู้เข้าร่วมครั้งนี้ จำนวน 104 คน มุ่งเน้นพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 6 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาความคิด 2) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3) ควบคุมและจัดการอารมณ์ 4) การพัฒนาจิตวิญญาณ 5) การพัฒนาอาชีพและการศึกษา และ 6) การพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจในการเลิกยาเสพติด การใช้กระบวนการกลุ่ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างงานสร้างอาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงยุติธรรม ภายใต้การดำเนินงานของกรมคุมประพฤติ มีกระบวนการติดตามผ่านการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือสงเคราะห์ เฝ้าระวังโดยการตรวจหาสารเสพติด/ความเจ็บป่วยโดย พนักงานคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ ครอบครัว และชุมชน โดยออกเยี่ยมเยียนสอดส่อง พูดคุย ติดตามผ่านผู้นำชุมชน ในระยะเวลา 3 เดือนหลังออกจากค่าย ติดตามทุก 5 วัน จากนั้นติดตามจนพ้นคุมความประพฤติเดือนละ 1 ครั้ง และติดตาม 1 ปี หลังพ้นคุมความประพฤติ จำนวน 7 ครั้ง
โครงการดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถปรับตัวเข้าสู่ครอบครัว ชุมชน และมีอาชีพผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือ ให้มีงานทำ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และนำไปสู่การเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
ทั้งนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายเรื่องยาเสพติด ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำขอให้ ทุกภาคส่วน เอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด การจัดการยาเสพติด ต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายกลุ่มนักค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชจากยาเสพติด และการจัดการแหล่ง แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และการป้องกันในกลุ่มต่าง ๆ ทุกระดับ